bih.button.backtotop.text

เตรียมกาย เตรียมใจ เมื่อถึงวัยทอง

มีความสุขได้ในทุกวัยด้วยหลากหลายแนวทางในการรับมือ กับอาการไม่พึงประสงค์ที่มาพร้อมกับวัยหมดประจำเดือน
ผู้หญิงหลายคนผ่านพ้นช่วงวัยหมดประจำเดือนไปได้อย่างสุขกายที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างไม่จำเป็น Better Health ฉบับนี้มีทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมาฝากกัน

เมื่อเข้าสู่ “วัยทอง”

ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ อธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยของผู้หญิงว่า จากวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า วัยใกล้หมดประจำเดือน (perimenopause) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่เกิดอาการก่อนที่จะหมดประจำเดือนประมาณ 5 ปี จนกระทั่งเมื่อรังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอย่างต่อเนื่องนาน 12 เดือนจึงเรียกได้ว่าเป็นวัยหมดประจำเดือนโดยธรรมชาติ หรือวัยทอง (menopause) อย่างสมบูรณ์ซึ่งอายุโดยเฉลี่ยของผู้หญิงวัยนี้จะอยู่ที่ประมาณ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีภาวะหมดประจำเดือนอาจเกิดได้ก่อนจากการรักษาโรคบางชนิดที่ต้องให้ยา ให้เคมีบำบัด ผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ออกไป เช่น โรคช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกในมดลูก ถุงน้ำรังไข่ เป็นต้น

อาการทั่วไป

แม้ผู้หญิงทุกคนต้องผ่านวัยหมดประจำเดือน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเผชิญกับอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่ง ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ อธิบายถึงอาการเหล่านี้ว่าอาจเกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจและการเข้าสังคม อาทิ อาการทางด้านร่างกาย เช่น กระดูกบางและเปราะง่าย ผิวพรรณแห้งขาดความเต่งตึง เส้นผมหยาบแห้งและบางลง อ้วนลงพุง ช่องคลอดแห้ง เจ็บปวดระคายเคืองระหว่างมีเพศสัมพันธ์ มดลูกและช่องคลอดหย่อนยาน ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกชุ่มโชก นอนไม่หลับ เป็นต้น อาการทางด้านจิตใจ เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ใจน้อย สมาธิสั้นหลงลืมง่าย ขาดความมั่นใจจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปทำให้ไม่อยากเข้าสังคม

การดูแลรักษา

วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนคือ ผู้หญิงต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมตั้งแต่อายุ 40 ปี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การนอนการออกกำลังกาย การฝึกจิตให้คิดในแง่บวก หรือตรวจสุขภาพตามกำหนดเพื่อลดอาการที่อาจเกิดขึ้นในช่วงอายุ 45 ปีโดยเฉลี่ย” ส่วนผู้ที่มีอาการมากจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ แนะนำว่าควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเบื้องต้นอันได้แก่การซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง หากพบว่าสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ แพทย์จะให้คำปรึกษาและรักษาอาการตามความจำเป็นและเหมาะสมเป็นรายๆ ไป “วัยทองไม่ใช่โรค ดังนั้นหลักการคือ ดูแลตามความพึงพอใจของแต่ละบุคคล ไม่มีอะไรดีที่สุด แต่เราจะอธิบายว่าอะไรที่เหมาะกับคุณที่สุด” ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าว

ลดอาการด้วยฮอร์โมนทดแทน สำหรับในรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่น กระดูกบาง ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ หรือช่องคลอดแห้ง แพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อบรรเทาอาการ “ฮอร์โมนที่ให้คือ ฮอร์โมนเพศหญิงชนิดสกัดจากธรรมชาติ (bio-identical hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีโครงสร้างเหมือนฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ แต่สกัดจากพืชพันธุ์ธรรมชาติไม่ใช่การสังเคราะห์ขึ้น โดยจะให้ในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะออกฤทธิ์”

ทั้งนี้ การพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนนั้นมีข้อยกเว้นคือ ผู้ที่มีเนื้องอกหรือเป็นมะเร็งบางชนิด มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งที่เกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ผู้ที่สูบบุหรี่ มีประวัติเลือดอุดตัน และเป็นโรคตับเรื้อรัง เป็นต้น ปัจจุบัน ฮอร์โมนทดแทนมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ตามสะดวก เช่น ชนิดรับประทาน ชนิดเจลทาบริเวณหน้าท้องหรือหน้าขา ชนิดสอดช่องคลอด ชนิดแผ่นแปะ และชนิดห่วง

ฮอร์โมนมีผลข้างเคียงหรือไม่

หลายคนอาจสงสัยว่าฮอร์โมนทดแทนนั้นมีผลข้างเคียงหรือไม่ เรื่องนี้ ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ อธิบายว่า ในอดีตฮอร์โมนที่ให้เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ประกอบกับแพทย์ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอว่าควรจะให้แบบใด ส่วนใหญ่จึงเป็นการให้แบบเหมารวม “ผู้หญิงแต่ละคนจะตอบสนองต่อระดับของฮอร์โมนทดแทนไม่เท่ากันจึงอาจทำให้มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงได้ แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการให้ฮอร์โมนไปมากแล้ว ปัจจุบันเราให้โดยพิจารณาตามอาการและสภาพร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและเกิดอาการข้างเคียงน้อยที่สุด”

สารอาหารจากธรรมชาติก็ช่วยได้

สำหรับผู้หญิงที่ไม่สามารถรับฮอร์โมนทดแทนได้นั้น มีทางเลือกคือการใช้สารอาหารตามธรรมชาติ หรือ phytoestrogens ซึ่งเป็นสารที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติใกล้เคียงกับฮอร์โมนเอสโตรเจนแต่พบในพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ชะเอม แบล็คโคฮอช และเรดโคลฟเวอร์ เป็นต้น “สมุนไพรเหล่านี้มีความปลอดภัย แต่จะช่วยให้อาการวัยทองดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน” ทั้งนี้ ฮอร์โมนทดแทนและสารอาหารจากธรรมชาติสามารถใช้เสริมกันได้ตามความพึงพอใจโดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด

เติมเต็มด้วยจุลสารอาหาร

นอกจากนี้แล้ว การดูแลสุขภาพผู้หญิงวัยทองยังสามารถทำได้โดยการเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น แคลเซียม วิตามินดี แมกนีเซียมและโฟลิก เป็นต้น โดยผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจเช็กระดับและทดสอบสารอาหารในร่างกายก่อน เพื่อให้ทราบว่าร่างกายขาดวิตามินและแร่ธาตุอะไรและมากน้อยแค่ไหน “ก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทาน ในเบื้องต้นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน ซึ่งแพทย์อาจแนะนำจุลสารอาหารหรือ micro-nutrient supplement ที่ปรุงขึ้นเฉพาะบุคคลเพื่อให้มั่นใจว่าคุณได้รับสาร อาหารที่มีคุณภาพ ครบถ้วนและเพียงพอกับร่างกาย” ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ แนะนำ
 

ก้าวข้าม menopause

ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ได้ก้าวข้ามการดูแลเพื่อลดอาการไปสู่การปรับสมดุลของฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลสุขภาพเพื่อการมีอายุที่ยืนยาว ซึ่งทำได้โดยการผสมผสานหลายๆ วิธีการเข้าด้วยกัน “ร่างกายคนเรามีฮอร์โมนหลายชนิดที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้ทุกตัวเกิดความสมดุล ไม่ว่าจะโดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การใช้ฮอร์โมนทดแทนและสารอาหารตามธรรมชาติอย่างพอเหมาะ รวมถึงการดูแลไม่ให้ร่างกายพร่องวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น ซึ่งเป็นการดูแลแบบองค์รวม ก็จะทำให้ร่างกายคงสภาพความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ยืนยาวขึ้น” ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าวในที่สุด การเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ และรู้จักจัดการกับอาการต่างๆ จะช่วยให้ผู้หญิงผ่านช่วงวัยนี้ไปได้อย่างราบรื่นและมีความสุข

ดูแลไลฟ์สไตล์ คือดูแลวัยทอง

การดูแลสุขภาพในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีของวัยหมดประจำเดือนนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตต่อไปในวัยสูงอายุ ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรดูแลตัวเองอย่างจริงจัง ส่วนจะดูแลอย่างไรนั้น พญ.ปรียานาถ กำจรฤทธิ์สูตินรีแพทย์ มีคำแนะนำดังต่อไปนี้

การรับประทานอาหาร ควรเน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม โดยเลือกชนิดไขมันต่ำหรือปราศจากไขมัน ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่รับประทานพร้อมกระดูก ผัก เช่น บรอกโคลี ใบยอ รวมถึงผลไม้และธัญพืชต่างๆ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1-2 ลิตร หากจำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริม ควรให้ได้วันละ 1,000 มิลลิกรัม

การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 120 นาทีหรือวันละ 30 นาทีต่อเนื่องกันสัปดาห์ละ 4 วันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโตหรือ growth hormone โดยออกกำลังกายในระดับความหนักปานกลาง เช่น เดิน เต้นรำ ว่ายน้ำ

นอนหลับอย่างมีคุณภาพ การนอนหลับเป็นรากฐานของการมีสุขภาพดี ควรเข้านอนตรงเวลาทุกวันและหลับให้สนิทก่อนเที่ยงคืน หากมีอาการนอนไม่หลับ ควรออกกำลังกายให้มากขึ้นโดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนนอนถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจรับประทานฮอร์โมนเมลาโทนินร่วมด้วย

ตรวจสุขภาพเมื่อถึงวัย ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเมื่อถึงวัย 40 ปีโดยเฉพาะผู้ที่มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยหากตรวจแล้วปกติดีก็ไม่จำเป็นต้องตรวจดูระดับของฮอร์โมน แต่หลังจากอายุ 45 ปีไปแล้ว แนะนำว่าควรตรวจฮอร์โมนร่วมด้วย

หมั่นสังเกตตัวเอง ควรจดบันทึกประจำเดือนทุกเดือนว่ามาวันที่เท่าไร มากี่วัน และมามากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ทราบได้โดยง่ายเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติเกิดขึ้น

ทำจิตใจให้สบาย ฝึกจิตให้สงบ พยายามอย่าเครียดเพราะจะส่งผลเสียทั้งต่อตัวเองและผู้คนรอบข้าง

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

เตรียมกาย เตรียมใจ เมื่อถึงวัยทอง
คะแนนโหวต 10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 3 คน

Related Health Blogs