รู้จักและวางแผนรับมือกับ
ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง เพื่อให้เก้าเดือนของการตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลา แห่งความสุขที่น่าจดจำตลอดไป
โดยทั่วไปแล้วการตั้งครรภ์ไม่ใช่ความเจ็บป่วยที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ แต่การตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะ
ภาวะครรภ์เสี่ยงเป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์โดยอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ภาวะครรภ์เสี่ยงเกิดจากอะไร จะป้องกันได้หรือไม่ และจะรักษาอย่างไร Better Health ฉบับนี้ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง
ปัจจัยของการเกิดภาวะครรภ์เสี่ยง
รศ.นพ.รสิก รังสิปราการ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เกิด
ภาวะครรภ์เสี่ยงว่าสามารถเกิดได้ทั้งจากมารดาและทารก และแบ่งออกได้เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อนการตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ โดยก่อนการตั้งครรภ์นั้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงได้ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้
- อายุ โดยช่วงอายุที่มีความเสี่ยงคือต่ำกว่า 18 ปีและ 35 ปีขึ้นไป
- รูปแบบการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดต่างๆ
- ประวัติการป่วย ในกรณีที่คุณแม่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงในการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย
“นอกจากนี้ ในกรณีที่เคยตั้งครรภ์มาแล้ว ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ ก็สำคัญเช่นกัน คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงคือ ผ่านการคลอดมามากกว่า 4 ครั้งขึ้นไป ผ่าตัดคลอดมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม หรือมีประวัติการแท้งมาก่อน” รศ.นพ.รสิก อธิบายเพิ่มเติม ในส่วนของความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ การตั้งครรภ์แฝด แม่อายุมาก การติดเชื้อ
ครรภ์เป็นพิษ เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะรกเกาะต่ำน้ำคร่ำมากหรือน้อยผิดปกติ ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ หรือมีความ ผิดปกติบางอย่าง เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ลิ้นหัวใจรั่ว มีอวัยวะไม่ครบ เป็นต้น ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้อาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้
ครรภ์เป็นพิษ พบไม่บ่อยแต่อันตราย
ครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ที่พบได้เพียงร้อยละ 5 แต่มีความรุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของคุณแม่และทารก ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่มีข้อบ่งชี้ค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือมีความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ จุกแน่นมีอาการตัวบวมซึ่งเกิดจากไตทำงานผิดปกติและเมื่อตรวจปัสสาวะจะพบ โปรตีนหรือไข่ขาว หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดการชักได้
“เมื่อพบภาวะเป็นพิษร้ายแรงที่เสี่ยงต่อชีวิตแม่ แพทย์อาจพิจารณายุติการตั้งครรภ์ แต่ถ้ายังสามารถประคับประคองไปได้เราก็จะพยายามรอจนถึงที่สุดคือจนกว่าทารกจะมีโอกาสรอดโดยที่คุณแม่ก็ปลอดภัยด้วย ซึ่งกรณีเช่นนี้เราจะทำงานร่วมกันกับกุมารแพทย์เวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิดเพื่อประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ก่อนตัดสินใจ” รศ.นพ.รสิก กล่าว
“การตั้งครรภ์ทุกครั้งถือว่ามีความเสี่ยงแต่จะเสี่ยงมากหรือน้อยเท่านั้น ดังนั้นว่าที่คุณแม่ควรตรวจร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์และฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ”
รศ.นพ.รสิก รังสิปราการ
อย่างไรที่เข้าข่ายครรภ์เสี่ยง
เมื่อมีการฝากครรภ์ แพทย์จะประเมินภาวะครรภ์เสี่ยงสูงด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ก่อน หากพบในเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะตรวจวินิจฉัยต่อตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป เช่น หากเป็นความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด สามารถวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ด้วยการอัลตราซาวนด์เพื่อวัดความยาวของปากมดลูก หากพบว่าปากมดลูกสั้นกว่า 2.5 เซนติเมตรจากปกติที่ 3.5 เซนติเมตรก็อาจถือได้ว่ามีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
“นอกเหนือจากการใช้ยาและให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อลดการบีบตัวของมดลูกแล้ว ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยยับยั้งการคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ การเย็บผูกปากมดลูก (cervical cerclage) ซึ่งเป็นการเย็บปิดปากมดลูกไว้จนกว่าจะคลอด โดยสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ขึ้นไป” ส่วนกรณีของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้นั้น แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันด้วยการอัลตราซาวนด์วัดการไหลเวียนของหลอดเลือดที่เลี้ยงมดลูก (uterine artery) ร่วมกับการตรวจสารบ่งชี้ ภาวะครรภ์เป็นพิษ
ประเมินทารกในครรภ์
เพราะทารกในครรภ์เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ แพทย์จึงต้องประเมินทารกในครรภ์เพื่อตรวจหาความผิดปกติและวางแผนป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูรูปร่างลักษณะ ขนาด และน้ำหนักทารก รวมถึงการตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ ซึ่งทำได้หลายวิธี อาทิ
- การตรวจอัลตราซาวนด์แบบละเอียด ซึ่งสามารถบอกได้จากความหนา ของคอทารก หรือการสร้างอวัยวะอย่างกระดูกจมูก เป็นต้น ซึ่งความ แม่นยำขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ตรวจ และจำเป็นต้อง ยืนยันผลด้วยการตรวจเลือดและตรวจวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย
- การเจาะตรวจน้ำคร่ำเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งนอกจาก อาการดาวน์แล้วยังสามารถตรวจโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ได้ด้วย เป็นวิธีการที่ให้ผล 100% แต่เนื่องจากการเจาะต้องใช้เข็มขนาดเล็ก แทงผ่านหน้าท้องของแม่เข้าไปในถุงน้ำคร่ำ จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมของ คุณแม่ในปัจจุบัน
- ตรวจดีเอ็นเอของทารกจากเลือดของคุณแม่ เช่น นิฟตี้เทสต์ (NIFTY test) และพาโนรามาเทสต์ (Panorama prenatal test) ซึ่งเป็นการตรวจ โครโมโซมเฉพาะคู่ แต่ไม่สามารถระบุความผิดปกติอื่นๆ ของทารกได้
การรักษาภาวะครรภ์เสี่ยง “การตั้งครรภ์ทุกครั้งถือว่ามีความเสี่ยงแต่จะเสี่ยงมากหรือน้อยเท่านั้น ดังนั้น ว่าที่คุณแม่ควรตรวจร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ควรมาฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ รวมทั้งมาพบแพทย์ ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดภาวะครรภ์เสี่ยง” นอกจากนี้ รศ.นพ.รสิก ย้ำว่า ภาวะครรภ์เสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่ตั้งครรภ์แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งมารดาและทารกจะต้องมีปัญหาสุขภาพ เพราะหลายปัจจัยสามารถควบคุมได้ ที่สำคัญคือคุณแม่ต้องปรับรูปแบบ การใช้ชีวิตให้สมดุล ศึกษาโภชนาการสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วปรับให้เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ “ถ้ารู้สึกผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก มีน้ำเดิน ลูกดิ้นน้อยลง ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นปวดลิ้นปี่ อาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ ยิ่งใกล้กำหนดคลอดยิ่งต้องรีบมา ถึงแม้ว่ามาแล้วจะยังไม่มีอันตรายเกิดขึ้นก็ตาม” รศ.นพ.รสิก กล่าวทิ้งท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 16 กันยายน 2566