คุณทราบหรือไม่...
- มีสตรีเสียชีวิตจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ 500,000 ราย/ปี
- 10% ของสตรีตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูง
- 2-8% ของสตรีตั้งครรภ์มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- 10-15% ของสตรีตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ
|
ภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ และอาจมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ แม้ว่าทุกวันนี้จะยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีการตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถพยากรณ์โรคและดูแลรักษาได้ตั้งแต่เริ่มเกิดภาวะนี้ ส่งผลต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดต่อทั้งมารดาและทารกได้
สาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ โดยทั่วไปภาวะครรภ์เป็นพิษมักเกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้หลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ โดยอาการที่แสดงถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ การมีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะครรภ์เป็นพิษ จึงอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ชัก การทำงานของไตผิดปกติหรือไตวาย ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด มีเลือดออกในระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะเลือดออกในสมอง น้ำท่วมปอด ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารก ได้แก่ ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย ทารกคลอดก่อนกำหนด และทารกเสียชีวิตในครรภ์
ในปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ รวมถึงใช้ประกอบการวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง โดยใช้การวัดการไหลเวียนของเส้นเลือดที่เลี้ยงมดลูก (uterine artery) ซึ่งทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ร่วมกับการตรวจสารบ่งชี้ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งได้แก่ ระดับโปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือด (PlGF; Placental Growth Factor) และโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือด (sFlt-1: Soluble Fms-like Tyrosine Kinase-1) โดยถ้าระดับของโปรตีน 2 ตัวนี้ไม่สมดุลกัน คือ ระดับของโปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือดต่ำลง ในขณะที่ระดับของโปรตีนยับยั้งการสร้างหลอดเลือดสูงขึ้น นั่นอาจแสดงให้แพทย์ทราบได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษขึ้น ซึ่งแพทย์จะได้ติดตามอาการและวางแผนการดูแลรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้น หากคุณแม่ตั้
งครรภ์มีความเสี่ยงที่เข้าข่ายจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อแพทย์จะได้ดูแลและติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด
เรียบเรียงจาก การบรรยายเรื่อง “ภาวะครรภ์เป็นพิษ ตรวจก่อน รู้ทัน ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย”
ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: