bih.button.backtotop.text

ภาวะครรภ์เสี่ยง

ภาวะครรภ์เสี่ยง หมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงซึ่งส่งผลกระทบต่อแม่และทารกในครรภ์ โดยอาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตได้ทั้งในขณะตั้งครรภ์ คลอด หรือหลังคลอด

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยง
ภาวะครรภ์เสี่ยงสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
  • มีประวัติเคยคลอดลูก แล้วลูกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างคลอดและหลังคลอดมาก่อน
  • มีประวัติทารกคลอดก่อนและหลังกำหนด คือ คลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์หรือคลอดอายุครรภ์เกิน 42 สัปดาห์เต็มขึ้นไป
  • มีประวัติเคยแท้งบุตรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง
  • มีประวัติเคยคลอดบุตรน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม
  • มีประวัติทารกโตช้าในครรภ์
  • มีประวัติทารกพิการทางด้านสมอง
  • มีประวัติครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
  • มีประวัติเคยได้รับการผ่าตัดที่ตัวมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์
  • การตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์แฝด
  • ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น ท่าก้น หรือท่าขวาง (ตั้งแต่ 34 สัปดาห์เป็นต้นไป)
 
หากสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์หรือคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นนี้ ควรเข้ารับคำปรึกษาและได้รับการดูแลในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งทางด้านอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง เพื่อให้การดูแลรักษาเหมาะสม ถูกต้อง และปลอดภัย
เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล แพทย์จะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยว่าคุณแม่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์หรือไม่ โดยทำการซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง โดยใช้แบบประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ร่วมกับ
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูน้ำตาลและโปรตีน โดยการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะร่วมกับมีความดันโลหิตสูงเป็นการบ่งบอกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ และการตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะเป็นสัญญาณของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งคุณหมอจะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อยืนยันว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ต่อไป
  • ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง
  • วัดความดันโลหิต
  • ตรวจดูยอดมดลูกเพื่อประมาณขนาดทารก
  • การตรวจอื่นๆ ตามความเห็นของแพทย์
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยควรพบแพทย์บ่อยครั้งกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง ซึ่งคุณแม่อาจได้รับการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพื่อช่วยในการวางแผนดูแลรักษา โดยตัวอย่างของวิธีการตรวจประเมินทารกในครรภ์ เช่น
  • การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้เพื่อวินิจฉัยการตั้งครรภ์ ความผิดปกติของเด็กและรก รวมทั้งสามารถบอกรูปร่างลักษณะและสรีรวิทยาของมดลูก ทารกในครรภ์ รก สายสะดือและน้ำคร่ำได้โดยไม่มีอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
  • การตรวจกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
    • ตรวจครั้งเดียวในไตรมาสแรก (Combined Test) ทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ โดยการตรวจอัลตราซาวนด์วัดความหนาของต้นคอทารกร่วมกับการตรวจเลือด ซึ่งสามารถตรวจกรองได้ 85% โดยมีผลบวกลวง 5%
    • ตรวจครั้งเดียวในไตรมาสที่ 2 (Quadruple Test) ในกรณีที่คุณแม่มาฝากครรภ์หลังไตรมาสแรกสามารถตรวจเลือดในช่วงอายุครรภ์ 15-20 สัปดาห์ และตรวจกรองได้ 85% โดยมีผลบวกลวง 5%
    • ตรวจ NIPT (Non-Invasive Prenatal Testing) เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถหาความเสี่ยงการเกิดกลุ่มอาการดาวน์ หรือความผิดปกติอื่นที่สำคัญ รวมถึงเพศของทารกในครรภ์ โดยการตรวจดีเอ็นเอของทารกจากเลือดมารดา สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์10 สัปดาห์ขึ้นไป ทราบผลภายใน 5-14 วัน และมีความแม่นยำสูงถึง99%
  • การเจาะน้ำคร่ำ ตรวจในช่วงอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ การตรวจน้ำคร่ำสามารถนำเซลล์ของทารกมาเพื่อใช้ตรวจวิเคราะห์โรคต่างๆ ได้ เช่น โครโมโซมผิดปกติ ธาลัสซีเมีย หรือโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ
  • การตรวจอื่นๆ ตามความเห็นของแพทย์ เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากรก การเจาะเลือดจากสายสะดือทารกในครรภ์ การตรวจการทำงานของหัวใจทารก (non-stress test: NST)
การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงมีความสำคัญอย่างมากต่อความปลอดภัยของลูกน้อยและตัวคุณแม่เอง การใส่ใจในสุขภาพจะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างมีความสุขและทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง อย่างไรก็ดี วิธีการดูแลตัวเองอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นกับภาวะที่คุณแม่เป็น ดังนั้นจึงควรปรึกษาคุณหมอถึงวิธีการที่เหมาะสม โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่ควรปฏิบัติตัวดังนี้
  • เตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ด้วยการตรวจสุขภาพทั้งคุณแม่และคุณพ่อ หากมีปัญหาสุขภาพให้ทำการรักษาหรือควบคุมโรคก่อนที่จะวางแผนตั้งครรภ์ต่อไป เช่น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง จะต้องควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนตั้งครรภ์ หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรพยายามลดความอ้วนด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
  • หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรรับประทานกรดโฟลิกล่วงหน้า 2-3 เดือน เพื่อป้องกันความผิดปกติในทารก เช่น กระดูกสันหลังแหว่งหรือเปิดในเด็ก
  • ฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งประวัติส่วนตัว ประวัติโรคที่เป็นให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดเพื่อวางแผนการดูแลรักษา และมาพบแพทย์เป็นระยะตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางหรือกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดผลต่อครรภ์ได้
  • วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ และชั่งน้ำหนักทุกครั้งที่มาพบแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
  • ควบคุมน้ำหนักตัว อย่าให้มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยจนเกินไป
  • คุณแม่ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โดยปรึกษาแพทย์ถึงการออกกำลังกายที่ไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ และหมั่นตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง
  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติและทำการรักษาหากมีอาการ เช่น
  • ปวดศีรษะบ่อย
  • จุกเสียดแน่นท้อง
  • ขนาดท้องเล็กหรือใหญ่กว่าปกติ
  • เลือดออกทางช่องคลอด
  • เมื่อตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือนแล้วลูกยังไม่ดิ้น
  • สูตินรีแพทย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการตั้งครรภ์และภาวะครรภ์เสี่ยงสูง รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิด (แพทย์เฉพาะทางการดูแลรักษาทารกที่มีภาวะผิดปกติ) จะเป็นผู้ให้บริการดูแล รักษา และให้คำแนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง รวมถึงดูแลคุณแม่และลูกน้อยตั้งแต่ตั้งครรภ์ไปจนถึงวันที่เห็นหน้าลูก
  • ในช่วงเวลาการคลอดในห้องคลอด คุณแม่จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยสูติแพทย์ วิสัญญีแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิด รวมถึงพยาบาลในห้องคลอดและพยาบาลแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) ที่มีความชำนาญและได้รับการอบรมเฉพาะทาง ซึ่งพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
แก้ไขล่าสุด: 13 มกราคม 2564

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์สูติ-นรีเวช

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์เวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด

ดูเพิ่มเติม

แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.81 of 10, จากจำนวนคนโหวต 159 คน

Related Health Blogs