พันตรีหญิง พญ.ณัฐธิดา วงศ์วีระวัฒน์ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็ก
พญ. ณัฐธิดา วงศ์วีระวัฒน์
หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พญ.ณัฐธิดาได้ศึกษาต่อทางด้านจักษุวิทยาที่รามาธิบดี และไปจบอนุสาขาด้านจักษุวิทยาเด็กและโรคตาเข จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงรับราชการในสายทหาร ปัจจุบันนอกจากจะประจำที่บำรุงราษฎร์แล้ว คุณหมอยังเป็นอาจารย์พิเศษที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอีกด้วย
Q: เหตุผลที่เลือกเป็นจักษุแพทย์เด็ก
A: ระหว่างเรียนที่สหรัฐอเมริกาได้เจอผู้ป่วยเด็กเยอะมาก เห็นแล้วรู้สึกสงสาร ยิ่งทราบว่าจักษุแพทย์โรคตาเด็กในเมืองไทยยังมีน้อยซึ่งอาจเป็นเพราะการตรวจเด็กเป็นเรื่องยากก็ได้ แต่หมอคิดว่าท้าทายดี เลยตัดสินใจเรียนต่อด้านโรคตาในเด็กโดยเฉพาะ
Q: การรักษาที่ประทับใจ
A: สมัยยังรับราชการอยู่ เคยพบเด็กจากครอบครัวที่แม่ตาบอดจากต้อกระจก ลูกชายอายุประมาณ 8 ขวบก็เป็นต้อกระจกจนมองไม่เห็นเหมือนกัน เด็กเรียนอักษรเบรลล์อยู่โรงเรียนสอนคนตาบอดแล้ว แต่มีคนพามาหาหมอ เราพบว่าเด็กเคยผ่าตัดมาครั้งหนึ่งแต่ไม่ได้ใส่เลนส์ตาและไม่มีการติดตามผล พอหมอผ่าตัดให้ทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นเด็กมองเห็นได้เยอะมาก ยังบอกแม่เด็กไปว่าต้องย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนใหม่แล้ว เคสนี้รู้สึกประทับใจเหมือนเราได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเด็กคนหนึ่งไปเลย
Q: หลักคิดในการทำงาน
A: ทำงานด้วยใจและให้ความสำคัญกับการสื่อสาร คือต้องคิดถึงใจเขาใจเรา ถ้าไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็คงไม่มีใครอยากมาหาหมอ ผู้ป่วยต้องการคำตอบ ฉะนั้นหมอต้องตอบให้ชัดเจนที่สุด ในกรณีของผู้ป่วยเด็กก็ต้องสื่อสารกับผู้ปกครองให้เข้าใจและชัดเจนเช่นกัน
พญ.เมทินี ศิริมหาราช จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตา
พญ. เมทินี ศิริมหาราช
พญ.เมทินีเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจอประสาทตาที่มีประสบการณ์ผ่าตัดจอประสาทตาให้กับผู้ป่วยมาแล้วนับพันราย คุณหมอสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตามด้วยสาขาเฉพาะทางที่รามาธิบดีและอนุสาขาที่ Sydney Eye Hospital ประเทศออสเตรเลีย จากนั้นจึงเข้ารับราชการเป็นจักษุแพทย์นานถึง 17 ปีก่อนย้ายมาร่วมงานกับบำรุงราษฎร์
Q: การร่วมงานกับบำรุงราษฎร์
A: จุดแข็งของที่นี่คือการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม แพทย์ทุกสาขาทำงานร่วมกันเป็นทีม เราดูแลผู้ป่วยในทุกระบบไม่ใช่เฉพาะตาเท่านั้น เพราะผู้ป่วยโรคจอประสาทตาส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคเบาหวาน ความดันและไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย การได้ปรึกษากับแพทย์สาขาอื่นๆ ก่อนตัดสินใจรักษาช่วยให้เคสยากๆ ดูแลได้ง่ายขึ้น
Q: ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในการรักษา
A: เทคโนโลยีด้านจอประสาทตาเปลี่ยนไปเยอะมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งอุปกรณ์การตรวจวินิจฉัยก่อนผ่าตัดและเครื่องมือผ่าตัด ปัจจุบันเราใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยลง แม่นยำขึ้น และมีอัตราความสำเร็จสูงขึ้น อย่างเครื่องเลเซอร์ก็ยิงได้เร็วขึ้นช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บมาก หรือแม้แต่ยาก็มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น ยาฉีด
เข้าตาเพื่อช่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมซึ่งในอดีตทำอะไรไม่ได้ ถือว่าตัวเองโชคดีเพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านนี้มีความก้าวหน้ามากพอสมควร
Q: สิ่งที่ยึดถือในการทำงาน
A: หมอมักจะบอกแพทย์รุ่นน้องและลูกศิษย์เสมอๆ ว่าสำคัญมากที่วิชาชีพแพทย์จะต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดี เพราะหมอเก่งแต่ไม่ดีหรือดีแต่ไม่เก่งก็อาจจะก่อปัญหาหรือเรื่องไม่คาดคิดต่อผู้ป่วย เพื่อนร่วมงานและตัวเองได้ ดังนั้นทำอย่างไรก็ได้ให้เราเป็นคนดีเสมอ เก่งก็ต้องเก่งให้ตลอด ต้องอัพเดทตัวเองตลอดเวลา
พญ.พินิตา วะน้ำค้าง จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านต้อหินและต้อกระจก
พญ. พินิตา วะน้ำค้าง
หนึ่งในแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต้อหินโดยเฉพาะ พญ.พินิตาสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลก่อนเลือกศึกษาต่อด้านจักษุวิทยาที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และอนุสาขาโรคต้อหินที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
Q: เหตุผลที่เลือกเรียนเฉพาะทางต้อหิน
A: โรคต้อหิน เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยตาบอดมากเป็นอันดับสองรองจากต้อกระจก แต่การตาบอดจากต้อกระจกผ่าตัดแล้วหายได้ ขณะที่ต้อหินนั้นหากตาบอดแล้วรักษาให้คืนมาไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นโรคที่รุนแรง มีคนไทยป่วยเป็นต้อหินประมาณร้อยละ 4 ของจำนวนประชากร ซึ่งหมอมองว่าเป็นโรคที่ท้าทายและอยากจะรักษาผู้ป่วยไม่ให้เขาต้องตาบอด
Q: ความยากในการทำงาน
A: เพราะดวงตามีความซับซ้อนมากและโรคที่เกิดกับดวงตามีหลายส่วน การอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เมื่อก่อนหมอต้องวาดรูปให้ดูแต่ก็ยังเข้าใจได้ยาก โชคดีที่ปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยอธิบายให้เห็นภาพได้มากขึ้น
นอกจากนี้การดูแลผู้ป่วยที่เหลือดวงตาที่ใช้งานได้เพียงข้างเดียวก็เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง หลายคนบินมาจากต่างประเทศ ฉะนั้นเราต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อช่วยเขา คือนอกจากการรักษาแล้วยังรวมถึงการ
สื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้ป่วย อย่างผู้ป่วยจากตะวันออกกลางที่ต้องใช้ล่ามเราก็ต้องมั่นใจว่าล่ามถ่ายทอดได้ทั้งหมด ตั้งใจว่าปีหน้าจะพยายามเรียนภาษาใหม่ๆ เพิ่มเติมจากภาษาอังกฤษจะได้สามารถอธิบายให้ผู้ป่วยฟังได้ด้วยตัวเองบ้าง
Q: หลักในการทำงาน
A: นอกจากรักษาแล้ว ต้องเฝ้าระวังให้ผู้ป่วยด้วย โดยเฉพาะต้อหินซึ่งเป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้วจะเป็นไปตลอดชีวิต แต่ถ้าตรวจพบได้เร็ว เราก็ป้องกันการสูญเสียได้เร็ว ฉะนั้นแม้ผู้ป่วยจะยังไม่เป็นอะไร แค่มาตรวจสุขภาพตาหรือมาวัดสายตา หมอจะถือว่าถ้าผู้ป่วยเอาคางมาวางแล้ว เราต้องตรวจให้ครบทุกจุดแม้จะไม่ได้ร้องขอ เพราะถ้าเจออะไรผิดปกติก็จะได้รีบรักษา
นพ.กีรติ พึ่งพาพงศ์ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมจักษุตกแต่งและต้อกระจก
นพ. กีรติ พึ่งพาพงศ์
อาจกล่าวได้ว่า นพ.กีรติเป็นหนึ่งในแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้างอย่างแท้จริง เนื่องจากคุณหมอผ่านหลักสูตรต่อยอดในอนุสาขาดังกล่าวทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ Massachusetts Eye and Ear Infirmary, Harvard Medical School ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์กว่า 5 ปีก่อนจะมาร่วมงานกับบำรุงราษฎร์
Q: เหตุที่สนใจสาขาศัลยกรรมจักษุตกแต่ง
A: ช่วงที่เป็นแพทย์ประจำบ้านได้มีโอกาสเห็นงานทางด้านนี้แล้วรู้สึกชอบ เพราะเป็นงานที่ท้าทาย ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ ประกอบกับในตอนนั้นมีแพทย์เรียนสาขานี้ไม่มาก อย่างรุ่นผมมี 3-4 คนเท่านั้น เรียกว่าเป็นสาขาที่ขาดแคลนแพทย์อีกสาขาหนึ่ง น่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้มาก
Q: การรักษาที่ท้าทายและประทับใจ
A: เนื่องจากสาขานี้มักเกี่ยวข้องกับเรื่องของเนื้องอก เคสที่ท้าทายน่าจะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเบ้าตาซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของแพทย์หลายสาขาในการดูแลผู้ป่วยหนึ่งคน ส่วนเคสที่ประทับใจคือ สมัยที่ยังเป็นแพทย์ประจำบ้าน ผมผ่าตัดต้อกระจกให้คุณยายท่านหนึ่งอายุประมาณ 90 ปี จากที่มองแทบไม่เห็นเลยก็กลับมามองเห็นได้ชัดเจนอีกครั้ง หลังผ่าเสร็จคุณยายได้เข้ามาสวมกอดแล้วก็ร้องไห้ บอกว่าดีใจที่มีโอกาสได้เห็นหน้าเหลนที่เพิ่งคลอด อันนี้เป็นเคสที่ไม่ยากแต่ประทับใจที่สุดแล้ว
Q: การร่วมงานกับบำรุงราษฎร์
A: นอกจากความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ ความปลอดภัยและคุณภาพในการรักษาแล้ว ผมพบว่าผู้ป่วยหลายรายมาบำรุงราษฎร์ด้วยโรคที่รักษายากและซับซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้เฉพาะในโรงเรียนแพทย์ การทำงานที่นี่จึงได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 09 พฤศจิกายน 2565