bih.button.backtotop.text

บุหรี่… สูบได้ ก็เลิกได้!

ในควันบุหรี่มีอะไร?

สารนิโคติน (Nicotine) เป็นสารพิษสำคัญในควันบุหรี่ที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติด ส่งผลให้ผู้สูบมีความรู้สึกอยากจะสูบบุหรี่อีก จึงเกิดการติดบุหรี่ขึ้น หากได้รับสารนิโคตินในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ได้ นอกจากสารนิโคตินแล้ว ในควันบุหรี่ยังมีสารพิษและสารก่อมะเร็งอีกมากมายหลายชนิด ได้แก่
  • น้ำมันดิน (Tar) เป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อสูบเข้าไปแล้วจะสามารถตกค้างในปอดและทางเดินหายใจ
  • คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) เป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้บุหรี่ ออกฤทธิ์ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดของผู้สูดควันบุหรี่ลดน้อยลง
  • ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulfide) เป็นก๊าซพิษที่มีผลระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดอาการไอและหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้
  • ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen dioxide) เป็นก๊าซที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจและถุงลมปอด ทําให้เกิดโรคถุงลมปอดโป่งพองได้
  • โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารหนูแคดเมี่ยม นิคเกิ้ล สังกะสี และโครเมี่ยม จัดเป็นสารก่อมะเร็ง
 

บุหรี่ ทำร้ายใครบ้าง?

เป็นที่ทราบกันดีว่าบุหรี่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้สูบโดยตรง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบ ก็มีความเสี่ยงที่ได้รับอันตรายด้วยเช่นกัน เนื่องจากสูดควันบุหรี่ซี่งประกอบไปด้วยสารพิษและสารก่อมะเร็งดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เรียกว่า การได้รับควันบุหรี่มือสอง (Secondhand smoking) นอกจากนี้ยังมี ควันบุหรี่มือสาม (Thirdhand smoking) ซึ่งเป็นควันบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ตามเส้นผม เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ สิ่งของ และวัตถุอื่นๆ ทำให้สารพิษเกาะติดอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการสูบบุหรี่ ส่งผลเสียต่อผู้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น
 

โรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่

คนทั่วไปมักคิดว่าการสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของปอด ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองและมะเร็งปอดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว บุหรี่ยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายอีกหลายชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ บุหรี่ยังมีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์อีกด้วย
 
 

สิ่งดีๆ ที่ร่างกายจะได้รับหากเลิกสูบบุหรี่

การเลิกสูบบุหรี่ ให้ผลดีต่อร่างกายตั้งแต่ 20 นาทีแรกของการเลิก โดยความดันโลหิตจะลดลงสู่ภาวะปกติ และระบบต่างๆ ของร่างกายจะเริ่มฟื้นฟูขึ้นตามลำดับ ซึ่งหากเลิกได้ต่อเนื่อง 5-10 ปี จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมองอุดตัน และมะเร็งหลายๆ ชนิดได้
 
 

อยากเลิกบุหรี่ การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ช่วยท่านได้

โดยทั่วไป การเลิกบุหรี่ให้ได้ผลสูงสุดนั้นต้องอาศัยหลายๆ แนวทางร่วมกัน โดยเฉพาะการให้คําปรึกษาร่วมกับการเสริมด้วยยาช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งจะช่วยให้การเลิกบุหรี่สําเร็จได้ง่ายขึ้น และผลสําเร็จคงอยู่ได้นานขึ้น โดยเราสามารถแบ่งยาช่วยเลิกบุหรี่ออกเป็น 2 ชนิด คือ
  1. ชนิดที่มีส่วนผสมของนิโคติน
เนื่องจากในบุหรี่มีสารนิโคตินเป็นองค์ประกอบหลัก จึงมีการให้นิโคตินทดแทน (Nicotine replacement therapy) โดยให้สารนิโคตินในระดับต่ำๆ ทำให้มีระดับของนิโคตินในเลือดเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนนิโคติน (เช่น กระวนกระวาย วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ เจริญอาหาร) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน อยู่ในรูปแบบหมากฝรั่งเคี้ยวอดบุหรี่ โดยหากมีการใช้ยาในกลุ่มนี้จำเป็นต้องหยุดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดก่อนเริ่มใช้ยา
  1. ชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน
  • Varenicline: ยานี้จะไปจับกับตัวรับนิโคตินในสมอง ช่วยป้องกันไม่ให้นิโคตินจากการสูบบุหรี่ไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจจากการสูบบุหรี่ จึงช่วยลดอาการถอนบุหรี่และความอยากบุหรี่ได้ โดยควรเริ่มยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนถึงกําหนดวันเลิกบุหรี่
  • Bupropion: เป็นยาต้านซึมเศร้าที่พบว่ามีประสิทธิภาพช่วยในการเลิกบุหรี่ จึงมีข้อดีสำหรับบรรเทาอาการซึมเศร้าหากผู้สูบบุหรี่มีอาการดังกล่าวร่วมด้วย และยังมีผลช่วยลดอาการถอนบุหรี่ ช่วยให้การเลิกบุหรี่สําเร็จง่ายขึ้น โดยควรเริ่มยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนถึงกําหนดวันเลิกบุหรี่
ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงชนิดของยา ขนาดยา และวิธีการบริหารยา ตามความรุนแรงและสาเหตุของการติดบุหรี่
 

หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง


Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

บุหรี่… สูบได้ ก็เลิกได้!
คะแนนโหวต 7.5 of 10, จากจำนวนคนโหวต 4 คน

Related Health Blogs