bih.button.backtotop.text

โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ หายได้หรือไม่

โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจเช่น โพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด เป็นโรคเรื้อรังและมีโอกาสหายได้ยาก ทั้งสองโรคนี้พบร่วมกันได้ในคนเดียวกัน โดยพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดมีภาวะโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ ส่วนคนที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้นั้น 1 ใน 3 มีโรคร่วมด้วย โดยภาวะจมูกอักเสบภูมิแพ้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหืดมากกว่าคนปกติถึง 3-5 เท่า หากไม่รักษาภาวะนี้ก็จะเป็นโรคหืดตามมาภายหลังได้ ซึ่งทั้งสองโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง และมีโอกาสหายได้น้อย

การศึกษาในเด็กที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ พบว่าเมื่อตามอาการไป 5 ปี มีโอกาสหายได้โดยร้อยละ 12 การศึกษาในผู้ใหญ่จำนวน 734 คนที่เป็นโรคนี้พบว่า เมือติดตามไป 8 ปีจะมีโอกาศหายได้ร้อยละ 12-38 โดยที่ถึงแม้คนไข้กลุ่มนี้จะไม่มีอาการแล้วแต่คนไข้ส่วนใหญ่ผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังยังผิดปกติอยู่ คือเป็นบวกต่อสารก่อภูมิแพ้

การศึกษาในผู้ใหญ่เมื่อติดตามอาการไปอย่างน้อย 30 ปีพบว่าหากไม่รักษาโรคจมูกอักเสบจะมีโอกาสหายได้ร้อยละ 40  ที่เหลืออาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่น ไซนัสอักเสบ และเป็นโรคหืดได้ การรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ให้ดี จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหืดในอนาคตได้

สำหรับการหายของโรคหืดขึ้นอยุ่กับช่วงอายุ กรณีเป็นเด็กโอกาสหายพบได้ร้อยละ 6-33 ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้ามีอาการตั้งแต่เล็กและหอบบ่อยโอกาสหายก็ค่อนข้างน้อย โดยช่วงอายุของเด็กที่หายมักอยู่ในช่วงอายุ 14-21 ปี ส่วนผู้ใหญ่อัตราการหายร้อยละ 11-52 แต่ถึงแม้ว่าจะหายแล้วบางคนก็มีอาการกลับเป็นซ้ำได้ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการหายขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงของโรค โรคที่พบร่วมเช่นจมูกอักเสบภูมิแพ้ หากพบร่วมด้วยจะหายยากกว่า ภาวะอ้วนทำให้เพิ่มความเสี่ยงทำให้ไม่หาย ส่วนการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดทำให้หายได้มากขึ้น

กล่าวโดยสรุปคือ ปัจจัยที่มีผลต่อการหายของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค การปรับพฤติกรรมโดยใช้ 4Es (eating-ลดน้ำหนัก, environment-หลีกเลี่ยงส่งกระตุ้น, exercise-ออกกำลังกาย, emotion-ทำจิตใจให้แจ่มใสไม่เครียด) สำหรับการรักษาทั่วไปทำให้ไม่มีอาการของโรค แต่ไม่ได้เปลี่ยนธรรมชาติของโรค มีเพียงการรักษาเดียวที่สามารถเปลี่ยนธรรมชาติของโรคและทำได้หายได้คือ การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหรือวัคซีนภูมิแพ้


เรียบเรียงโดย : ศ.ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
กุมารแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 24 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs