อาการท้องอืดดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนเป็นกัน แต่หากคุณมีอาการบ่อยๆจนเรื้อรัง อาการท้องอืดอาจไม่ใช่เรื่องปกติอย่างที่คิด การตรวจลมหายใจเพื่อวิเคราะห์ปริมาณแก๊สไฮโดรเจนและมีเทนที่ขับออกทางลมหายใจสามารถช่วยวินิจฉัยสาเหตุของอาการท้องอืด เพื่อให้คุณได้รับการรักษาอย่างแม่นยำตรงจุด ไม่ต้องทนทรมานกับอาการจุกเสียด อึดอัดแน่นท้องอีกต่อไป
การตรวจลมหายใจช่วยวินิจฉัยโรคอะไรได้บ้าง
การตรวจลมหายใจมักใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยภาวะดังต่อไปนี้
- ภาวะย่อยน้ำตาลบกพร่อง (intolerance) เกิดจากการย่อยน้ำตาล เช่น แลคโตส ฟรุกโตส ซูโครส หรือซอบิทอลบกพร่อง ภาวะที่พบได้บ่อยคือภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (Lactose intolerance) ซึ่งเกิดจากการย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้
- ภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้เล็ก (Small Intestinal Bacterial Overgrowth: SIBO) เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้เจริญมากผิดปกติในบริเวณลำไส้เล็ก
- ภาวะจุลินทรีย์ชนิดผลิตแก๊สมีเทนเกินในลำไส้ (Intestinal Methanogen Overgrowth: IMD) เกิดจากจุลินทรีย์ที่ผลิตแก๊สมีเทนเจริญมากผิดปกติในลำไส้
การตรวจลมหายใจทำได้อย่างไร
การตรวจลมหายใจเป็นการตรวจด้วยเครื่องตรวจลมหายใจ โดยวิเคราะห์ปริมาณแก๊สไฮโดรเจนและมีเทนที่ผลิตจากแบคทีเรียในทางเดินอาหาร และดูดซึมจากผิวลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดและถูกขับออกมาทางลมหายใจ หากมีภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้ คาร์โบไฮเดรตจะถูกแบคทีเรียหมักเป็นแก๊สไฮโดรเจนและมีเทนปริมาณมากและขับออกมาทางลมหายใจ
ต้องเตรียมตัวก่อนตรวจลมหายใจอย่างไรบ้าง
- งดรับประทานยาปฏิชีวนะ 4 สัปดาห์ก่อนตรวจ
- งดยาที่มีผลต่อการบีบตัวของลำไส้และยาระบาย 1 สัปดาห์ก่อนตรวจ
- งดรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ขนมปัง พาสต้า ธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากนมวัว 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- งดน้ำและอาหาร 8-12 ชั่วโมง
- งดออกกำลังกายอย่างหนักและการสูบบุหรี่ในวันที่รับการตรวจ
- ทำความสะอาดช่องปากด้วยน้ำยาบ้วนปากหรือแปรงฟันก่อนตรวจ
ขั้นตอนในการตรวจลมหายใจมีอะไรบ้าง
- แพทย์จะเก็บลมหายใจพื้นฐาน (baseline breath) ก่อน
- หลังจากนั้นจะให้รับประทานสารตั้งต้นที่ใช้ในการตรวจแยกโรค เช่น กลูโคสหรือแลคตูโลสหรือแลคโตส ผสมกับน้ำเปล่า 1 แก้วหรือดื่มน้ำตามหลัง
- เก็บลมหายใจทุก 15 นาทีจนครบ 120 นาที ร่วมกับการบันทึกอาการทางเดินอาหารระหว่างการตรวจ เช่น อาการท้องอืด แน่นท้อง เรอลม
- วิเคราะห์ปริมาณแก๊สไฮโดรเจน มีเทนและคาร์บอนมอนออกไซด์ผ่านเครื่องตรวจลมหายใจ
ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางที่พร้อมให้คำปรึกษา การวินิจฉัยและรักษาอาการท้องอืด
อาหารไม่ย่อย โดยมุ่งเน้นที่การหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อรักษาได้อย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม
ที่มา นพ. ภัคพล รัตนชัยสิทธิ์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 22 พฤษภาคม 2566