โดยปกติระบบทางเดินอาหารของมนุษย์มีชนิดและจำนวนแบคทีเรียแตกต่างกันในแต่ละตำแหน่ง ภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้เล็ก เป็นภาวะความผิดปกติทางคลินิกที่เกิดจากการเสียสมดุลของแบคทีเรีย มีการเจริญเติบโตในบริเวณลำไส้เล็กในปริมาณมากกว่าปกติ อุบัติการณ์และความชุกในประชากรทั่วไปยังไม่ทราบชัดเจนเพราะอาการของโรคมีหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงและคล้ายคลึงกับโรคทางเดินอาหารอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในการตรวจวินิจฉัยด้วยอุปกรณ์เฉพาะเพื่อยืนยันและทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง
เกิดขึ้นได้จากสาเหตุอะไรบ้าง
การเสียสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้นี้เกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
- ความผิดปกติของกายวิภาค เป็นความผิดปกติที่ทำให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้เล็กได้ช้าลง เช่น การผ่าตัดลำไส้ตีบตันจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังหรือการฉายแสงหรือการผ่าตัดที่มีการตัดลิ้นกั้นระหว่างลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้นออก
- การเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กผิดปกติ เกิดจากโรคที่เกิดในหลายระบบร่วมกัน (systemic disease) เช่นโรคเบาหวาน โรคอะไมลอยด์โดสิส หรือยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (opioid) ยาที่มีฤทธิ์แอนตีโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drug)
- ภาวะพร่องกรดเกลือจากกระเพาะอาหาร โดยมีสาเหตุจากการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ภาวะอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหารชนิด atrophic gastritis และ autoimmune gastritis และการผ่าตัดเส้นประสาทวากัส
- ภาวะอื่นๆ เช่น พบได้เพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็ง การติดสุราเรื้อรังและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
อาการของโรคมีอย่างไร
- ท้องอืด แน่นท้อง ท้องโต
- เรอลมและผายลมบ่อย
- ถ่ายเหลว
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้
- ในรายที่มีความรุนแรงมาก อาจมีอาการจากภาวะทุพโภชนาการ เช่น อาการบวม น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรังและการขาดวิตามินต่างๆ
วินิจฉัยได้ด้วยวิธีใด
การวินิจฉัยทำได้หลายวิธีโดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการวินิจฉัยที่เหมาะสม เช่น การเพาะเชื้อจากสารน้ำจากลำไส้เล็กส่วนต้นและการตรวจลมหายใจ (breath test)
การรักษาทำได้อย่างไร
- การค้นหาและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้เล็กเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำโดยเน้นกำจัดปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้
- การรักษาภาวะทุพโภชนาการโดยการรักษาและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด การให้พลังงานที่เพียงพอและการเสริมโปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่อย่างเหมาะสม รวมถึงการให้สารอาหารผ่านหลอดเลือดในรายที่เป็นรุนแรง
- การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อแก้ไขสมดุลปริมาณและชนิดของแบคทีเรียในลำไส้เล็ก โดยแพทย์จะตรวจยืนยันเพื่อวินิจฉัยก่อนเพื่อป้องกันผลแทรกซ้อนจากยาโดยไม่จำเป็น เช่น ผลข้างเคียงและเชื้อดื้อยา
- การปรับอาหาร เนื่องจากอาการส่วนหนึ่งของโรคเกิดจากการหมักแบคทีเรีย ดังนั้นการลดหรืองดรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่แบคทีเรียสามารถหมักได้ร่วมกับการรักษาหลักอื่น สามารถช่วยลดอาการได้บ้าง
- โพรไบโอติกส์ (Probiotics) การรักษาด้วยโพรไบโอติกส์โดยใช้หลักการเปลี่ยนแปลงชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้อาจช่วยลดปริมาณแก๊สและเพิ่มการบีบตัวของลำไส้
ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางในการให้คำปรึกษา การวินิจฉัยและการรักษาโรคด้านการทำงานระบบทางเดินอาหารอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะโรคที่ยากต่อการวินิจฉัย เช่น ภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้เล็ก แพทย์เฉพาะทางของเรามีความชำนาญในการวินิจฉัยแยกโรค รวมถึงให้การรักษาและติดตามดูแลอาการเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น
ที่มา นพ. จรงกร ศิริมงคลเกษม
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567