เมื่อได้ยินคำว่าผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียม ผู้ป่วยหลายคนคงรู้สึกลังเลเพราะกลัวว่าต้องพักรักษาตัวนานหรือกลัวว่าผ่าตัดแล้วอาจเกิดอาการแทรกซ้อน ความจริงการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากการผ่าตัดทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยและแทบไม่มีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนหรือติดเชื้อหลังการผ่าตัด
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากการผ่าตัดทำได้อย่างเหมาะสมและหากผู้ป่วยดูแลข้อเทียมได้อย่างถูกต้อง ข้อเทียมจะมีอายุยืนยาวมากกว่า 15 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อเทียมสึกหรอได้จากการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน โดยผู้ป่วยสังเกตได้จากอาการดังนี้ รู้สึกว่าข้อเทียมเริ่มไม่มั่นคง ทำให้สะดุดหรือหกล้มบ่อยกว่าปกติ มีประสิทธิภาพในการใช้งานลดลง รู้สึกเจ็บปวดหรือเจ็บปวดมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ต้องพึ่งยาแก้ปวดเพื่อลดอาการหรือมีการติดเชื้อของข้อเทียม
เมื่อผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพราะอาจเป็นอันตรายหากปล่อยทิ้งไว้ แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมซึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในครั้งแรก เนื่องจากต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบก่อนการผ่าตัดร่วมกับการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษในการผ่าตัด จึงจำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีทักษะและความชำนาญการในการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียม อย่างไรก็ตามอย่าได้กลัวการผ่าตัดจนเกินไปเพราะหากมีองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นอย่างครบถ้วน การผ่าตัดจะมีอัตราความสำเร็จสูง
ในปัจจุบันผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมประมาณร้อยละ 20 ถึงเวลาที่ต้องผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมจากการที่ข้อเทียมเดิมหมดอายุการใช้งาน หรือเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติเนื่องจากการผ่าตัดที่ทำก่อนหน้านี้ไม่ถูกต้องแม่นยำ
ทำไมการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมจึงมีความซับซ้อนกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในครั้งแรกและทำไมจึงมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่า
สาเหตุที่ขั้นตอนการ
ผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมมีความซับซ้อนกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในครั้งแรกอาจเกิดจากการก่อตัวของเนื้อเยื่อแผลเป็น การสูญเสียกระดูกหรือความยุ่งยากในการนำข้อเทียมเดิมออกมา นอกจากนี้การผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมยังอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน ซึ่งมีได้ตั้งแต่การติดเชื้อที่บาดแผลผ่าตัด ลิ่มเลือดหรือหลอดเลือดดำอุดตัน ข้อเทียมเคลื่อนหลุด การแตกร้าวของกระดูกระหว่างหรือหลังจากการผ่าตัด รวมถึงภาวะข้อต่อยึด
หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายวัน โดยแพทย์จะสั่งยาระงับปวด ยาป้องกันการจับตัวของเม็ดเลือดและยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาอาการปวด ป้องกันลิ่มเลือดอุดตันและป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้การทำกายภาพบำบัดก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ทำให้เคลื่อนไหวได้คล่อง สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดียิ่งขึ้น
ระยะเวลาในการฟื้นตัว
ระยะเวลาในการฟื้นตัวขึ้นอยู่กับสาเหตุในการผ่าตัด หากเป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน เพียงแค่เปลี่ยนผิววัสดุที่สึกหรอ ผู้ป่วยจะใช้เวลาไม่นานในการฟื้นตัว แต่หากเกิดจากสาเหตุที่ใหญ่กว่านั้น เช่น การติดเชื้อหรือกระดูกแตกหัก ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาหกถึงสิบสองเดือนในการฟื้นตัว
ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ผู้ป่วยที่ผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียมควรกลับมาพบแพทย์อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อให้แพทย์ตรวจสภาพข้อเทียมว่ามีอาการหลวมหรือมีปัญหาเล็กน้อยอื่นๆ หรือไม่ ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น ยิ่งถ้าผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด รู้สึกข้อไม่มั่นคงหรือมีปัญหาเกี่ยวกับข้อเทียม เราแนะนำให้ผู้ป่วยทำการนัดหมายเพื่อพบแพทย์ทันที
การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด
เพื่อให้ข้อเทียมมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวอย่างที่ควรจะเป็น ผู้ป่วยควรรักษาสุขภาพและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อให้กระดูกบริเวณรอบๆ ยึดติดแน่นกับข้อเทียม นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงท่าทางที่อาจทำลายข้อเทียมและทำให้ข้อเทียมบาดเจ็บ เพราะการแก้ไขกระดูกที่แตกหักของผู้ที่ใส่ข้อเทียมนั้นยากกว่าการแก้ไขกระดูกธรรมชาติที่แตกหัก นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้สติสัมปชัญญะของผู้ดื่มลดลง จนทำให้สูญเสียการทรงตัวและเกิดการบาดเจ็บได้
ถึงแม้การผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมจะยากและซับซ้อนกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมครั้งแรก แต่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีหากมีการวางแผนการผ่าตัดอย่างละเอียด มีเครื่องมือและอุปกรณ์การผ่าตัดเฉพาะทางที่เหมาะสม ร่วมกับการผ่าตัดที่ทำโดยศัลยแพทย์และวิสัญญีแพทย์ที่มีทักษะ พร้อมทีมงานดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดที่มีประสบการณ์ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด
บทสรุป
การผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมได้ช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนมากกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ เพราะหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดและรู้สึกเดินได้อย่างมั่นคงเหมือนเดิม เป็นการให้โอกาสผู้ป่วยได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 25 สิงหาคม 2565