ทำไมจึงควรขอความเห็นที่สองจากแพทย์ผู้ชำนาญการก่อนการผ่าตัดมะเร็งลำไส้
การผ่าตัดเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตของคุณ เช่นเดียวกับการตัดสินใจในเรื่องสำคัญอื่นๆที่คุณควรเปิดโอกาสให้ตัวเองมีทางเลือกที่คิดว่าดีที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจ ดังนั้นการขอความเห็นที่สองจากแพทย์เฉพาะทางอาจช่วยยืนยันหรือช่วยให้ผู้ป่วยได้ทางเลือกใหม่ที่เหมาะสม เพื่อที่จะเดินหน้ารักษาต่อไปด้วยความมั่นใจมากขึ้น
เมื่อไหร่ที่ควรขอความเห็นที่สอง
การรักษา
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และ
ทวารหนักเป็นการรักษาเฉพาะบุคคล ถึงแม้จะมีแนวปฏิบัติที่อาจไม่แตกต่างกันมากนักในผู้ป่วยแต่ละราย แต่รายละเอียดปลีกย่อย เช่น เทคนิคในการผ่าตัดของแพทย์มีความแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น
มะเร็งลำไส้ตรง (rectal cancer) หากก้อนมะเร็งอยู่ใกล้รูทวารหนัก แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดปิดรูทวาร ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ทวารเทียมไปตลอดชีวิต แต่ในบางครั้ง ในสถานการณ์เดียวกัน แพทย์บางท่านที่มีประสบการณ์อาจสามารถผ่าตัดเก็บรูทวารหนักไว้ได้ ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยไม่เสียไป ดังนั้นหากแพทย์แจ้งให้คุณทราบว่าคุณจะต้องได้รับการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณหลังจากนั้น คุณควรแสวงหาความเห็นจากมุมมองของแพทย์ท่านที่สองเพื่อให้คุณมีข้อมูลที่จำเป็นเพียงพอต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้
คำถามต่อไปนี้ ช่วยในการตัดสินใจว่าคุณควรขอความเห็นที่สองหรือไม่
- มีโอกาสหรือไม่ที่จะมีทางเลือกในการรักษาที่ดีกว่า
- คุณรู้สึกไม่มั่นใจในผลการวินิจฉัยหรือแผนการรักษาของแพทย์ท่านแรกหรืออยากได้ข้อมูลในการวินิจฉัยและแผนการรักษาเพิ่มเติมหรือไม่
- การขอความเห็นที่สองมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง เช่น ข้อดีคือได้รับข้อมูลทางเลือกมากขึ้น ข้อเสียอาจเป็นเรื่องของการเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
- สามารถเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายก่อนการรักษา
ปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนขอความเห็นที่สองมีอะไรบ้าง
- แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง คุณควรเลือกแพทย์ที่มีความชำนาญการ ได้รับการฝึกอบรมในสาขาศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักมาโดยตรง มีประสบการณ์และมีอัตราการรักษาประสบความสำเร็จสูง มีความชำนาญในการผ่าตัดด้วยเทคนิคเจาะรูส่องกล้อง ทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อยและฟื้นตัวไว ซึ่งศูนย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผู้ชำนาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง พร้อมให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น
- การดูแลผู้ป่วยเป็นทีมแบบสหสาขาวิชาชีพ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการซับซ้อนหรือสามารถใช้ขั้นตอนการรักษาที่ทำได้หลายรูปแบบ ที่บำรุงราษฎร์มีการประชุม Tumor Board ของทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งเพื่อวางแผนและหาวิธีการรักษาร่วมกัน
- ทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญการด้านดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีพยาบาลผู้ดูแลทวารเทียมโดยเฉพาะ สามารถให้คำปรึกษาผู้ป่วยในการเลือกทวารเทียม วิธีการใช้งานและดูแลทวารเทียมอย่างถูกต้อง
ก่อนปรึกษาแพทย์เพื่อขอความเห็นที่สองควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
- เตรียมข้อมูลการตรวจรักษาทั้งหมดเกี่ยวกับโรคที่ต้องการปรึกษา รวมถึงโรคประจำตัวอื่นๆให้พร้อมก่อนไปพบแพทย์ เช่น ประวัติคนไข้ ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ ผลตรวจชิ้นเนื้อ ฟิล์มเอกซเรย์
- เตรียมคำถามที่ต้องการสอบถามแพทย์ไว้ล่วงหน้า
- พาสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนไปกับด้วยเพื่อช่วยถามคำถาม เก็บรวบรวมข้อมูลและช่วยในการตัดสินใจ
ในบางกรณีแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการทดสอบเพิ่มเติม หากข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ
หากความเห็นที่สองแตกต่างจากความเห็นแรก ควรทำอย่างไร
หากความเห็นของแพทย์สองท่านไม่ตรงกัน ให้คุณพยายามเข้าใจเหตุผลที่มาของความแตกต่างในความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเมินถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละแนวทางการรักษา ปรึกษาพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่สามารถให้ความเห็นที่มีเหตุผล พิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ คุณสมบัติและประสบการณ์ของแพทย์ ความน่าเชื่อถือของสถานพยาบาล ท้ายสุดแล้วคุณเป็นผู้เลือกว่าจะรักษากับแพทย์ท่านใดและด้วยแนวทางใดที่คุณรู้สึกสบายใจมากที่สุด
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 02 มิถุนายน 2565