bih.button.backtotop.text

มะเร็งทวารหนัก

มะเร็งทวารหนัก คือ โรคมะเร็งที่เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นบริเวณทวารหนัก มีอาการถ่ายเป็นเลือด ปวดและคันบริเวณทวารหนัก เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้ค่อนข้างน้อย ซึ่งโรคมะเร็งทวารหนักก็อาจเกิดขึ้นได้กับเซลล์ทุกชนิดของทวารหนัก ได้แก่ เซลล์บุภายในทวารหนัก โดยอาจเป็นเซลล์เยื่อเมือกหรือเซลล์เบื่อบุผิวภายนอกก็ได้ กล้ามเนื้อ เส้นเลือดและเซลล์ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น แต่โรคมะเร็งทวารหนักที่พบได้บ่อย มักจะเกิดจากเซลล์เยื่อเมือกบุภายในและเซลล์เยื่อบุผิวภายนอกมากที่สุด

อาการ
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมีมูกเลือดปนมา
  • มีก้อนเนื้อบริเวณทวารหนัก โดยอาจโผล่มาให้เห็นหรือคลำเจอเมื่ออุจจาระ
  • ปวดบริเวณทวารหนัก หรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย
  • พฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งรูปร่างของอุจจาระก็เปลี่ยนไป
  • มีสารคัดหลั่งไหลออกจากทวารหนักอย่างเรื้อรัง
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโตจนคลำเจอได้ โดยอาจพบว่าโตทั้งสองข้างหรือโตข้างเดียว ซึ่งอาการนี้จะพบได้เมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว
จนถึงปัจจุบันสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งทวารหนักยังคงไม่ชัดเจน แต่มีผลการวิจัยยืนยันแล้วว่า ปัจจัยบางอย่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งทวารหนัก ซึ่งประกอบไปด้วย ไวรัส HPV โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งทวารหนัก คือ HPV-16 และ HPV-18

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งทวารหนักได้ ดังนี้
  • มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • สูบบุหรี่
  • มีประวัติเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด หรือมะเร็งช่องคลอด
  • มีปัญหาภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เคยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
  • มีพฤติกรรมทางเพศในทางที่เสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • เกิดการอักเสบเรื้อรังของทวารหนัก หรือ มีเนื้องอกที่ทวารหนักคล้ายริดสีดวง
  • เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแบ่งตัวและการตายของเซลล์ปกติ โดยจะเป็นชนิดไม่ถ่ายทอด
  1. การตรวจทั่วไป : การตรวจทวารหนักด้วยสายตาและการใช้นิ้วมือ  เพื่อคลำหาก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติ ซึ่งจะทำให้แพทย์วินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาในขั้นต่อไปได้ หรือการตรวจร่างกายทั่วไป ได้แก่ การตรวจอุจจาระ
  2. การตรวจโดยการส่องกล้องทวารหนัก : ก่อนทำการตรวจโดยการส่องกล้องทวารหนักควรตรวจด้วยสายตาและนิ้วมือก่อน ซึ่งแพทย์จะใช้น้ำมันหล่อลื่นทาบริเวณกล้องส่องทวารหนัก จากนั้นค่อยๆ สอดกล้องเข้าไปในทวารหนักและลำไส้ตรง สามารถมองเห็นได้ว่าภายในทวารหนักมีก้อนเนื้อหรือไม่
  3. การตรวจชิ้นเนื้อ : แพทย์จะใช้เข็ม กรรไกรเล็กหรือคีมตัดเนื้องอกส่วนหนึ่งออกมา จากนั้นจะใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องตรวจชิ้นเนื้อว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ การตรวจชิ้นเนื้อประกอบไปด้วย การใช้เข็มเจาะเพื่อดูดชิ้นเนื้อไปตรวจและการตัดชิ้นเนื้อตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล
  4. การตรวจ PET/CT : การตรวจ PET/CT สามารถประเมินระดับของมะเร็งทวารหนัก อีกทั้งสามารถแสดงให้เห็นว่ามีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองหรือไม่และลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไปหรือไม่
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 2 เซนติเมตร
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นจากเดิม เกินจาก 2 เซนติเมตร
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งได้ลุกลามเข้าไปสูงเนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียง
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่อันตรายมาก โดยมะเร็งได้มีการลุกลามและแพร่กระจายออกไปสู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป โดยเฉพาะปอดและตับ ซึ่งแพร่ผ่านกระแสเลือดหรือต่อมน้ำเหลืองนั่นเอง   
 
แพทย์จะพิจารณาการรักษาตามปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะและความรุนแรงของมะเร็ง การตอบสนองของร่างกายต่อการรักษา สุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น โดยวิธีการรักษาหลัก ๆ มีดังนี้
  1. การผ่าตัด เป็นการตัดเนื้อเยื่อที่มีเซลล์มะเร็งออก แต่เนื้อเยื่อที่ดีในบริเวณใกล้เคียงก็อาจโดนตัดออกไปด้วย ส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้ในกรณีที่มะเร็งทวารหนักมีขนาดเล็กและยังเป็นในระยะเริ่มต้น โดยการผ่าตัดรักษามะเร็งมีหลายรูปแบบ ซึ่งแพทย์จะวิเคราะห์จากอาการของผู้ป่วยและเลือกเทคนิคการผ่าตัดที่เหมาะสมมาใช้กับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากการผ่าตัดแล้ว ในกรณีมะเร็งทวารหนักเป็นมากลุกลามมากแพทย์ผ่าตัดไม่ได้ แพทย์จะให้เคมีบำบัดและการฉายแสงร่วมด้วย ถ้ามะเร็งไม่ได้แพร่กระจายไปยังที่ห่างไกลจากต้นตอ การให้เคมีบำบัดและการฉายแสงจะเป็นการรักษาให้ก้อนมะเร็งลดขนาดลงก่อนทำการผ่าตัดเอามันออก โดยทั่วไปแนะนำการให้เคมีบำบัดและฉายแสงก่อนการผ่าตัด ในรายที่เป็นมะเร็งทวารหนักระยะ 2 และ 3 และหลังจากผ่าตัดแล้วยังให้เคมีบำบัดเพิ่มเติมด้วย
  2. การทำเคมีบำบัด หรือที่เรียกว่า คีโม เป็นการรักษาด้วยยา โดยอาจฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดโดยตรงหรือให้ผู้ป่วยกินยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็ส่งผลให้เซลล์สุขภาพดีถูกทำลายไปด้วย จึงอาจเกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เป็นต้น
  3. การฉายรังสี เป็นการฉายรังสีพลังงานสูงไปยังบริเวณที่เป็นมะเร็ง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งในบริเวณนั้น มักใช้รักษาควบคู่กับการทำเคมีบำบัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้เนื้อเยื่อใกล้เคียงถูกทำลายไปด้วย และอาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวหนังเป็นแผลหรือเกิดรอยแดง
แก้ไขล่าสุด: 21 กุมภาพันธ์ 2566

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษาโรคลำไส้ใหญ่ และทวารหนักครบวงจร

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 2.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 3 คน

Related Health Blogs