bih.button.backtotop.text

วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก: วัคซีนป้องกันเอนเทอโรไวรัส 71

โรคมือเท้าปาก (Hand-foot-mouth disease)

เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) สำหรับ สายพันธุ์ที่ก่อโรคมือเท้าปาก ได้แก่ เอนเทอโรไวรัสชนิด 71 (Enterovirus 71) ที่พบการก่อโรคส่วนใหญ่ในทวีปเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และค็อกซ์แซกกี้ไวรัสกลุ่มเอ (Coxsackie virus group A) ที่พบการก่อโรคส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เชื้อไวรัสเหล่านี้มักก่อโรคในเด็กเล็กโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อได้แต่อาการอาจไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ตุ่มหรือผื่นที่ผิวหนัง หรืออุจจาระของผู้ป่วยทั้งสัมผัสโดยตรงและสัมผัสเชื้อทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น ภาชนะต่างๆ น้ำดื่มและอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อจากสารคัดหลั่งหรืออุจจาระของผู้ป่วย รวมถึงมือผู้เลี้ยงดู จึงมักพบการระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก
 

ทำไมจึงควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก

โดยทั่วไปอาการแสดงของโรคมือเท้าปากไม่รุนแรงและจะปรากฏหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 3-7 วัน อาการแสดงต่างๆ ได้แก่ ไข้ รู้สึกไม่อยากอาหาร เจ็บคอ มีแผลร้อนในที่เพดานปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำพองที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แขน ขา รอบก้น อาการเหล่านี้จะดีขึ้นจนหายได้ในเวลา 7-10 วัน ส่วนอาการแทรกซ้อนที่พบน้อยแต่รุนแรงถึงชีวิตได้มักเกิดจากเอนเทอโรไวรัสชนิด 71 เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจวาย และน้ำท่วมปอด
การฉีดวัคซีนนี้จะกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัสชนิด 71 เพื่อป้องกันโรคมือเท้าปากที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัสชนิด 71 เท่านั้น ไม่สามารถใช้ป้องกันโรคมือเท้าปากที่มีสาเหตุจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น (รวมถึงค็อกซ์แซกกี้ไวรัส เอ 16 และอื่นๆ) จากข้อมูลการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัสชนิด 71 ได้ 97.3%
 

ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากและเมื่อไหร่

วัคซีนนี้ใช้สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปีที่อาจได้รับเชื้อเอนเทอโรไวรัสชนิด 71 โดยวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ตำแหน่งที่แนะนำคือ กล้ามเนื้อหัวไหล่บริเวณต้นแขน ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร จำนวน 2 โดส ดังตาราง

 

Enterovirus Type 71 vaccine

เข็มแรก

เข็มที่ 2

ตารางการฉีด

ระหว่างช่วงอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี

ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน

 

ควรทำอย่างไรหากไม่สามารถมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัด

ติดต่อแพทย์หากไม่สามารถมารับการฉีดวัคซีนได้ตามเวลานัด หากได้รับวัคซีนไม่ครบอาจได้รับประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไม่เต็มที่ กรณีมาช้ากว่ากำหนด ให้เข้ามาฉีดวัคซีนเข็มต่อไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
 

ใครไม่ควรได้รับวัคซีน

  • ผู้ที่แพ้สารสำคัญและสารอื่นที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีน รวมถึงสารปรุงแต่งอื่น ฟอร์มัลดีไฮด์ และคานาไมซินซัลเฟต
  • ผู้ที่อยู่ระหว่างเป็นไข้หรือระหว่างเป็นโรคเฉียบพลัน
  • ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังรุนแรงหรือร่างกายกำลังมีภาวะภูมิแพ้ต่ออะไรบางอย่าง
 

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดได้หลังจากรับวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก

 

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยมาก

(มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10)

  • มีไข้

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย

(มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 10)

  • ปวด ผื่นแดง บวม เนื้อเยื่อแข็งตัวบริเวณที่ฉีด
  • ไม่อยากรับประทานอาหาร หงุดหงิด ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ภาวะภูมิไวเกิน

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบไม่บ่อย

(มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 0.1 ถึงร้อยละ 1)

  • คันบริเวณที่ฉีด


**หากเกิดอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งอาการให้แพทย์ทราบว่ามีอาการอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อใด พร้อมให้ข้อมูลของวัน/เวลาที่ได้รับวัคซีน**
 

การดูแลรักษาอาการไม่พึงประสงค์ที่พบทั่วไปและไม่รุนแรง

  • หากมีไข้: รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม
  • หากปวด บวม บริเวณที่ฉีดยา: ประคบด้วยผ้าเย็น
 

อันตรกิริยาระหว่างยา (ผลต่อยาอื่น)

  • ยังไม่มีข้อมูลของปฏิกิริยาของวัคซีนนี้เมื่อใช้ร่วมกับวัคซีนชนิดอื่น
  • ยากดภูมิคุ้มกันอาจมีผลลดประสิทธิภาพของวัคซีนนี้ เช่น สารกดภูมิคุ้มกัน ยาเคมีบำบัด ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และอื่นๆ ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มนี้อยู่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนที่จะรับการฉีดวัคซีนนี้
  • ไม่ควรฉีดวัคซีนพร้อมกับอิมมูโนโกลบูลิน หากจำเป็นควรเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เดือน เพื่อให้มีผลรบกวนการกระตุ้นภูมิของวัคซีนน้อยที่สุด
 

เอกสารอ้างอิง
  • EntroVac [package insert]. Bangkok: Biovalys Co.Ltd.; 2022.
  • Centers for Disease Control and Prevention. Hand, Foot, and Mouth Disease (HFMD). Available from: https://www.cdc.gov/hand-foot-mouth/index.html [Accessed 13 September 2022].
  • สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข. ความรู้สำหรับประชาชน โรคมือ เท้า ปาก. เข้าถึงได้จาก: https://www.pidst.or.th/A705.html [เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565].
  • Li R, Liu L, Mo Z, Wang X, Xia J, Liang Z, et al. An inactivated enterovirus 71 vaccine in healthy children. N Engl J Med. 2014 Feb 27;370(9):829-37. doi: 10.1056/NEJMoa1303224. PMID: 24571755.
 



 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 25 มีนาคม 2568

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs