“ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม” คำๆ นี้อาจสร้างความเครียดและความกังวลให้ไม่น้อยสำหรับคนไข้ที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด หลายๆ คนอาจกลัวความเจ็บปวด กลัวผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด กลัวว่าจะไม่สามารถกลับมาเดินหรือใช้ชีวิตแบบเดิมได้ แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงมีเทคนิคช่วยควบคุมความเจ็บปวด เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิมได้
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมทั้ง
ข้อเข่าเสื่อมหรือ
ข้อสะโพกเสื่อม ที่แพทย์จะแนะนำเมื่อผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ แล้วยังไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย รับประทานยา แต่อาการเจ็บปวดยังไม่ดีขึ้นและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน ไม่มีความสุข
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดเปลี่ยน
ข้อเข่าเทียมและ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบ่งออกเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมบางส่วนและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมทั้งข้อ ซึ่งในอดีตการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบบางส่วนจะทำได้ยากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์สูง เนื่องจากจะต้องวางข้อเทียมในตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อให้กลมกลืนกับข้อเดิม หากผิดพลาดก็อาจส่งผลต่อระยะเวลาการใช้งานของข้อเทียม ทำให้อายุการใช้งานของข้อสั้นกว่าที่ควรจะเป็น และผู้ป่วยอาจต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ ซึ่งการผ่าตัดในครั้งต่อๆ ไปอาจทำได้ยากกว่าและไม่ได้ผลดีเท่ากับการผ่าตัดครั้งแรก
ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันจึงมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำมาใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม นั่นก็คือ
การใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Arm Assisted Joint Replacement Surgery) ซึ่งประกอบด้วยแขนกลหุ่นยนต์ กล้องจับสัญญาณภาพ 3 มิติ และเครื่องประมวลผลที่คอยควบคุมการทำงานทั้งหมดให้สอดคล้องกัน ทำให้สามารถวางแผนก่อนการรักษาได้อย่างละเอียด ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ เที่ยงตรง และลดโอกาสเกิดความผิดพลาดจากการผ่าตัด
อย่างไรก็ดี
การใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดไม่ได้หมายความถึงการทำหน้าที่แทนแพทย์ แพทย์ยังคงมีบทบาทสำคัญตลอดกระบวนการรักษาเช่นเดียวกับการผ่าตัดปกติ โดยแพทย์จะเป็นผู้วางแผนกำหนดขนาด องศา และตำแหน่งของข้อเทียมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด แล้วส่งข้อมูลไปยังแขนกลหุ่นยนต์ จากนั้นแพทย์จึงทำการผ่าตัดเปิดแผล กรอกระดูก และวางข้อเทียม โดยมีแขนหุ่นยนต์เป็นตัวช่วยควบคุมให้แพทย์สามารถกรอกระดูกเสื่อมเฉพาะที่ต้องการออก และช่วยให้แพทย์สามารถนำข้อเทียมไปใส่ตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ได้อย่างแม่นยำ
ด้วย
ประสิทธิภาพการทำงานของแขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดร่วมกับความเชี่ยวชาญของแพทย์จึงมีข้อดีเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเดิม คือ เส้นเอ็นและเนื้อเยื่อต่างๆ บริเวณรอบเข่าหรือสะโพกที่ยังมีสภาพดีจะไม่บอบช้ำจากการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว สามารถเริ่มเดินได้เองภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บน้อยกว่า รวมถึงข้อเทียมจะมีอายุการใช้งานยืนยาวอย่างที่ควรจะเป็น
สำหรับผู้ป่วยที่กังวลเรื่องอาการข้างเคียงจากการได้รับยาระงับความรู้สึก ในปัจจุบันนี้จะใช้วิธีการฉีดยาเข้าช่องไขสันหลังหรือที่รู้จักกันดีว่าบล็อกหลังโดยไม่ใช้มอร์ฟีน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าช่วยให้การผ่าตัดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ดี
สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ แม้เทคโนโลยีจะช่วยรักษาข้อที่เสื่อมได้ แต่ก็ควรเป็นทางเลือกท้ายๆ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ การดูแลข้อของตัวเองให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ เพื่อให้ข้อของเราสามารถใช้งานและอยู่กับเราไปได้นานๆ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: