การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL เป็นอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง: การแพลงหรือการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า (ACL) เกิดขึ้นเมี่อเข่าบิดรุนแรงกะทันหันขณะที่เท้ายังตรึงแน่นอยู่กับพื้น และขาตั้งตรงหรืองอเล็กน้อย แรงกระทบกะทันหันดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้เมื่อเราเปลี่ยนทิศทางหรือลดความเร็วอย่างรวดเร็ว เช่น เมื่อเล่นฟุตบอล หรือเมื่อกระโดดลงถึงพื้น อย่างเวลาเล่นบาสเกตบอล
เอ็นไขว้หน้า ACL ไม่ได้พลิกหรือฉีกขาดเฉพาะในระหว่างการเล่นกีฬาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้เมื่อเปลี่ยนการลงน้ำหนักจากขาข้างหนึ่งไปอีกขาหนึ่งโดยกะทันหัน เมื่อเข่าเคลื่อนไหวเกินขอบเขตที่ทำได้ตามปกติหรือเมื่อมีการกระแทกที่หัวเข่าโดยตรง
อาการของการบาดเจ็บ ACL:
- ในกรณีรุนแรงที่ ACL ฉีกขาดสิ้นเชิง เข่าจะอักเสบและบวมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเจ็บปวดอย่างรุนแรง ผู้บาดเจ็บจะแทบไม่สามารถลงน้ำหนักได้เลย
- กรณีแพลงที่ไม่รุนแรง อาจรู้สึกระคายเคืองใต้หน้าแข้ง โดยมีอาการบวมที่หัวเข่าภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังบาดเจ็บ
- ความเจ็บปวดอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้ตามปกติหรือทำกิจกรรมอื่นๆ
การรักษาฉุกเฉินเบื้องต้น
ทันทีที่บาดเจ็บ ให้พักขาและหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักบนขานั้น การประคบเย็นบริเวณเข่าครั้งละ 20 นาที วันละหลายๆ ครั้งจะช่วยลดอาการบวมได้ เช่นเดียวกับการใช้ผ้ายืดพันแผลหรือผ้ารัดเข่ารัดไว้ พยายามยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดการไหลเวียนของเลือดผ่านข้อเข่าที่อักเสบ
เอ็นฉีกขาดหายเองได้หรือไม่
การบาดเจ็บของ ACL ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดไปทุกราย การฟื้นฟูอาจเป็นการรักษาที่ถูกต้อง การฟื้นตัวตามธรรมชาติแตกต่างกันไปตามผู้ป่วยแต่ละราย โดยขึ้นอยู่กับระดับการบาดเจ็บ ระดับกิจกรรม และระดับอาการไม่มั่นคงของข้อเข่า การพยากรณ์โรคสำหรับ ACL ที่ฉีกขาดบางส่วนมักขึ้นอยู่กับการบาดเจ็บอื่น ๆ รวมถึงอายุและระดับกิจกรรมของผู้ป่วย โดยปกติการฟื้นตัวและการฟื้นฟูสมรรถภาพมักใช้เวลาอย่างน้อยหกเดือนถึงหลายปี
อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดได้หาก ACL ฉีกขาดโดยสิ้นเชิงหรือฉีกขาดเพียงบางส่วนแต่หัวเข่าคลอนไม่มั่นคงพร้อมมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นร่วมกัน การผ่าตัดจะมีประโยชน์ทำให้กลับควบคุมเข่าได้เต็มที่ การศึกษาทางชีวกลศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า ACL ที่สร้างขึ้นใหม่อาจแข็งแรงกว่า ACL เดิมประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เมื่อผ่าตัดซ่อมสร้าง
การผ่าตัด ACL
การผ่าตัดมักจะทำเมื่อพ้นระยะการอักเสบเฉียบพลันไปแล้ว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเข่าแข็งหลังการผ่าตัดได้อย่างมาก ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของบำรุงราษฎร์มักจะทำการสร้าง ACL แบบมัดเดียวหรือแบบสองมัดโดยใช้การส่องกล้องตรวจข้อเข่า การสร้าง ACL แบบมัดคู่เป็นเทคนิคใหม่ที่พัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเป็นตัวเลือกการรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดที่เหนือกว่าวิธีอื่น
การผ่าตัดซ่อมสร้าง ACL ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยมาก และดำเนินการโดยศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ศัลยแพทย์จะใช้กล้องดูภายในข้อต่อก่อน จากนั้นจึงจะเจาะรูขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตรสองสามรูเพื่อทำการผ่าตัด
กระบวนการผ่าตัดทั้งหมดใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงสองชั่วโมง โดยทั่วไปมักใช้การดมยาสลบระหว่างการสร้าง ACL ขึ้นใหม่ ผู้ป่วยบางรายจะได้รับการบล็อกเส้นประสาทส่วนปลายระหว่างการผ่าตัด หลังจากผ่าตัดเสร็จ ผู้ป่วยอาจพักในห้องพักฟื้นหนึ่งหรือสองชั่วโมงก่อนกลับบ้านในวันเดียวกัน หรือจะพักค้างคืน 1-2 คืนก็ได้
กระบวนการพักฟื้น
ACL ที่สร้างขึ้นใหม่โดยการผ่าตัดส่องกล้องใช้เวลาฟื้นตัวหลายเดือนก่อนที่เข่าของผู้ป่วยจะกลับมาสบายและทำหน้าที่ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าที่สำคัญหลายประการในด้านการซ่อมสร้าง ACL ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วกว่าในอดีตมาก โดยมีโอกาสฟื้นตัวเต็มที่สูง ส่วนการฟื้นฟูให้เข่าทำงานได้อย่างสมบูรณ์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ การผ่าตัดทุกรายมีเป้าหมายให้ฟื้นตัวได้เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ
การผ่าตัดเป็นขั้นตอนแรกในการฟื้นฟูการทำงานของข้อเข่า การทำกายภาพบำบัดก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปมีเข่าที่มีสมรรถภาพและสามารถทำหน้าที่เข่าได้อย่างเดิมเหมือนก่อนบาดเจ็บโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ความสำคัญของกายภาพบำบัด
แม้กระทั่งการผ่าตัดที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถบรรลุผลตามที่ต้องการได้หากไม่มีการทำกายภาพบำบัดอย่างจริงจังตามมา ปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การยืดเข่าที่ปลายขา การลงน้ำหนักได้ และการเสริมความแข็งแรงของเข่าในการงอเข่าเหยียดเข่า
กายภาพบำบัดจะสอนผู้ป่วยให้เรียนรู้วิธีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง และเสริมสร้างส่วนที่อ่อนแอ จุดมุ่งหมายคือเพื่อแก้ไขความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดการบาดเจ็บของ ACL และเพื่อเรียนรู้รูปแบบและการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องอีกครั้ง
การฟื้นฟูต้องใช้เวลาและความทุ่มเท ทีมสหสาขาวิชาชีพบำรุงราษฎร์ที่ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อจะจัดแผน
กายภาพบำบัดที่มีรายละเอียดและปรับแต่งเป็นพิเศษให้เป็นแผนเฉพาะตัวสำหรับผู้ป่วย และดูแลผู้ป่วยตลอดกระบวนการฟื้นฟูที่สำคัญนี้ เป้าหมายคือการฟื้นฟูให้เขากลับมีกำลังเต็มที่ และลดความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บซ้ำเพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปเล่นกีฬาหรือใช้ชีวิตเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนเดิม
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 01 มิถุนายน 2565