bih.button.backtotop.text

เส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ (Carpal tunnel syndrome)

เส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ (Carpal tunnel syndrome)

อาการนี้เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดอันหนึ่งในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางมือ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบในวัยทำงานมากกว่าในเด็ก เนื่องจากสาเหตุที่สำคัญของโรคนี้ มักสัมพันธ์กับการใช้งานมือ เช่น การทำงานบ้าน การทำสวนทำไร่ การทำอาหาร การใช้งานคอมพิวเตอร์นานๆ หรือการเล่นกีฬาที่ใช้มือเป็นหลัก ฯ  อาจมีบางโรคหรือบางภาวะที่เป็นสาเหตุเสริม เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์  โรคไต สตรีตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรใหม่ เป็นต้น

อาการของโรคนี้ได้แก่ อาการปวด ชาที่มือ กำมือลำบาก โดยเฉพาะเวลานอน และตื่นนอนตอนเช้า หากทิ้งไว้นาน อาจมีอาการมืออ่อนแรงร่วมด้วย
 
พยาธิสภาพที่พบบ่อยในโรคนี้ จากการที่เส้นประสาทที่ข้อมือมีเส้นเอ็นล้อมรอบอยู่หลายเส้น และมีพังผืดคลุมอยู่ ทำให้เส้นประสาทอยู่ในเนื้อที่จำกัด เมื่อมีการใช้งานมือมากๆ ทำให้เส้นเอ็นและเยื่อหุ้มเส้นเอ็นบวม ไปเบียดเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทถูกกด และเกิดอาการดังกล่าวในที่สุด

การดูแลเบื้องต้นสำหรับโรคนี้ ได้แก่ การพักการใช้งาน การแช่น้ำอุ่น การใช้ยาลดการปวด ยาต้านการอักเสบ (NSAID)
สำหรับยาต้านการอักเสบอาจต้องมีความระมัดระวังในการใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคกระเพาะ โรคไต โรคความดันสูง โรคหัวใจ ฯ
 
หากว่าหลังจากดูแลเบื้องต้นไม่ได้ผลภายใน 1 สัปดาห์ ควรจะมาพบแพทย์ สิ่งที่แพทย์จะให้การดูแลต่อไปคือ แพทย์จะมีการซักประวัติและตรวจร่างกายให้ รวมทั้งมีการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือพิเศษได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าของเส้นประสาท (Electrodiagnostic study) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย

สำหรับการรักษาเริ่มต้น มักเป็นการให้ยาต้านการอักเสบ ยาลดอาการปวดปลายประสาทและยาบำรุงปลายประสาท ซึ่งมักได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มต้น หากได้ยาไประยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็นและลดอาการกดทับของเส้นประสาท รวมทั้งอาจมีการรักษาทางกายภาพบำบัดเช่น การประคบร้อน การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ การใส่ที่ประคองข้อมือ ฯ

ในรายซึ่งการรักษาด้วยวิธีการให้ยา การฉีดสเตียรอยด์ การทำกายภาพบำบัด ไม่ได้ผลหรือผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าของเส้นประสาทมีลักษณะการกดเส้นประสาทที่รุนแรง รวมทั้งมีอาการกล้ามเนื้อในมือฝ่อ มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
 
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเป็นการตัดพังผืดที่คลุมเส้นเอ็นและเส้นประสาทออก เพื่อขยายเนื้อที่ของเส้นประสาทและเพื่อลดการกดทับของเส้นประสาท

การผ่าตัดในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ
1.) ผ่าตัดแบบปกติ (Conventional release)
2.) ผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Endoscopic release)

ซึ่งผลของการผ่าตัดมักได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจทั้ง 2 วิธี แตกต่างกันที่ระยะเวลาฟื้นตัวและขนาดของบาดแผลผ่าตัด

ระยะฟื้นตัวหลังผ่าตัดมักใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการหายของแผล อาการปวดที่มีก่อนผ่าตัดจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์เช่นกัน อาการชาที่มีก่อนผ่าตัดจะดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน
 
เรียบเรียงโดย นพ. อภิกิตติ์ ศรีเสริมโภค
ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ - การบาดเจ็บ -แผลบาดเจ็บ
ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ - การผ่าตัดมือ

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs