โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบเป็นโรคหนึ่งที่มีปัจจัยจากความชราของร่างกาย หากคุณหรือคนใกล้ชิดที่อยู่ในวัยสูงอายุเริ่มมีอาการที่อาจบ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ เช่น เหนื่อยง่าย เป็นลมหมดสติ หรือแน่นหน้าอก ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว และสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัด ในปัจจุบันยังมีทางเลือกใน
การเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยการใช้สายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดช่องอก ที่เรียกว่า “TAVI” อีกด้วย
โรคลิ้นหัวใจตีบเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ โดยมากมักเกิดที่ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (aortic valve) ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (aorta) มีหน้าที่ในการป้องกันการย้อนกลับของเส้นเลือดเข้ามายังหัวใจ หากจะทำการเปรียบเทียบ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกก็เหมือนกับวาล์วน้ำที่อยู่ระหว่างปั๊มน้ำกับท่อเมนที่ส่งน้ำกระจายออกไปยังจุดต่างๆ เมื่อวาล์วเกิดปัญหาไม่เปิดหรือเปิดได้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้น้ำไหลออกไม่สะดวกและเกิดคั่งค้างอยู่ภายใน เช่นเดียวกัน เมื่อลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เลือดก็สูบฉีดออกไม่ได้ เกิดการคั่งในหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตเฉียบพลันตามมาได้
โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ มักมีสาเหตุจากความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะมีหินปูนเกาะสะสมที่ลิ้นหัวใจจนลิ้นหัวใจหนาขึ้นและเปิดได้น้อยลง โรคนี้จึงพบได้มากในผู้สูงอายุ และมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนทั้งชายและหญิง
ทั้งนี้โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบจัดเป็นภัยเงียบโรคหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนเองเป็นจนกว่าจะมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด แต่ก็มีอาการที่ผู้ป่วยควรสังเกต เช่น เหนื่อยง่าย (แม้ทำกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันก็อาจมีอาการเหนื่อยได้) เป็นลมหมดสติ มีอาการแน่นหน้าอกเหมือนน้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ นอกเหนือจากการซักประวัติผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจหัวใจโดยเฉพาะ เช่น
ตรวจคลื่นฟ้าหัวใจ (EKG) ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram) เพื่อประเมินระดับการตีบแคบของลิ้นหัวใจ ซึ่งลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบแบ่งระดับความรุนแรงได้ 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1-ตีบเพียงเล็กน้อย ระดับที่ 2-ตีบปานกลาง โดยทั้ง 2 ระดับนี้อาจยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และระดับที่ 3-ตีบรุนแรง คือ ลิ้นหัวใจแทบไม่เปิดเลย ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่
โดยทั่วไปการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจทำได้โดยการผ่าตัดเปิดหน้าอกเพื่อตัดลิ้นหัวใจเก่าออกและเย็บลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาที่ให้ผลดีมาก แต่วิธีนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ มีการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม และต้องใช้เวลาในการผ่าตัดนาน 3-4 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการรักษาได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุมาก ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดในช่องอกมาก่อน และผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค เป็นต้น
ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้จึงมีทางเลือกในการรักษาอีกวิธีหนึ่ง นั่นก็คือ
การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด หรือ TAVI (transcatheter aortic valve implantation) ซึ่งเป็นการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบ (คล้ายการ
ทำบอลลูน) เมื่อสายสวนไปถึงบริเวณของลิ้นหัวใจเอออร์ติกที่ตีบแล้ว แพทย์จะทำการปล่อยให้ลิ้นหัวใจเทียมที่มีการม้วนพับอยู่กางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจอันใหม่ทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ
เนื่องจาก
การรักษาด้วยเทคนิค TAVI นี้ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อเปิดช่องอก ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว มีแผลเล็กๆ เฉพาะบริเวณที่เจาะสอดสายสวนเท่านั้น ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 5-7 วันก็สามารถกลับบ้านได้ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการรักษาโรคให้ดียิ่งขึ้น แต่การตรวจสุขภาพของหัวใจอย่างสม่ำเสมอก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนไม่ควรละเลย
เรียบเรียงโดย นพ.วัธนพล พิพัฒนนันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 09 มีนาคม 2565