ดวงตาของคนเราจะมีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายลูกบอล ภายในประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ เรียงกันเป็นชั้นๆ ทั้งหมดสามชั้น โดยชั้นนอกสุด คือตาขาว (sclera) ทำหน้าที่คงรูปร่างของดวงตาและป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ชั้นกลาง คือเนื้อเยื่อยูเวีย (uvea) ประกอบด้วยเส้นเลือดมากมาย และชั้นในจะประกอบไปด้วยน้ำและวุ้นตา (aqueous/vitreous) คอยหล่อเลี้ยงอวัยวะภายในของดวงตา เช่น เลนส์แก้วตา
ภาวะม่านตาอักเสบ หรือ ยูเวียอักเสบ (uveitis) เป็นคำรวมๆที่ใช้เรียกภาวะที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อชั้นกลางภายในลูกตา(uvea) ซึ่งประกอบไปด้วย
- ม่านตา (iris) อยู่ส่วนหน้าสุดของดวงตา เป็นส่วนที่ทำให้ตาของคนเรามีสี มีหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้าสู่ดวงตา โดยจะหดเวลาอยู่ในที่สว่างและขยายเวลาอยู่ในที่มืด
- เนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (ciliary body) เป็นส่วนควบคุมการสร้างน้ำในตาและสัมพันธ์กับการปรับความคมชัดของการมองเห็นแต่ละระยะ (focusing)
- เนื้อเยื่อคอรอยด์ (choroid) เป็นเนื้อเยื่อส่วนหลังของดวงตาประกอบไปด้วยเส้นเลือดมากมาย ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทและจอประสาทตา
เมื่อมีการอักเสบของเนื้อเยื่อยูเวียนี้จึงสามารถส่งผลต่อคุณภาพการมองเห็นได้เป็นอย่างมาก อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
โรคม่านตาอักเสบนี้มีอุบัติการณ์ 17-52 ต่อประชากร 100,000 ราย มากน้อยแตกต่างกันตามเชื้อชาติและถิ่นที่อยู่ โดยพบว่า 10-14% ของผู้ป่วยจะมีความรุนแรงของโรคมากจนทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ที่สำคัญโรคนี้ยังพบบ่อยในวัยทำงาน คืออายุระหว่าง 20-59 ปี จึงถือว่าเป็นภาวะมีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศและของโลก
ผู้ป่วยโรคม่านตาอักเสบสามารถมีอาการนำและอาการแสดงได้หลายแบบขึ้นกับอวัยวะที่มีการอักเสบ เช่น ถ้ามีม่านตาอักเสบมักมีอาการตาแดง ปวดตา สู้แสงไม่ได้ การมองเห็นแย่ลง ถ้ามีวุ้นตาอักเสบอาจเห็นจุดลอยไปมามากขึ้นโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับการมองเห็น หรือถ้ามีจอตาอักเสบอาจสูญเสียการมองเห็นทั้งหมดหรือเป็นส่วนๆ ที่เรียกว่าสูญเสียลานสายตาก็ได้ โดยอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือค่อยเป็นค่อยไป
ปัจจุบันเราสามารถแยกแยะประเภทและชนิดของม่านตาอักเสบได้หลายแบบ โดยสาเหตุที่พบบ่อยของม่านตาอักเสบในประเทศไทยของเรารวมถึงกลุ่มประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ การติดเชื้อ โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคเส้นเลือดอักเสบ โรคมะเร็ง เป็นต้น โดยในอดีตโรคม่านตาอักเสบเราสามารถให้คำวินิจฉัยและบอกสาเหตุเฉพาะเจาะจงได้แค่ 40-50%เท่านั้น แต่ด้วยความรู้ความเข้าใจในตัวโรคที่มากขึ้น อีกทั้งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปัจจุบันเราสามารถระบุสาเหตุของม่านตาอักเสบได้มากถึง 80% โดยเฉพาะในกลุ่มโรคติดเชื้อ
ดังนั้นหากเรามีอาการแสดงที่ทำให้สงสัยว่ามีภาวะยูเวียอักเสบหรือม่านตาอักเสบ หรือเป็นผู้ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะมีภาวะม่านตาอักเสบร่วมด้วย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่นโรคพุ่มพวง หรือ SLE โรคกระดูกสันหลังอักเสบ (Ankylosing Spondylitis) โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) และผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรมาพบและปรึกษาจักษุแพทย์เฉพาะทางสาขาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ (Uveitis specialist) เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป โดยจักษุแพทย์ก็จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายและตาอย่างละเอียด นอกจากนี้หากจำเป็นอาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาต่อไป
เรียบเรียงโดย นพ.ชัยศิริ จําเริญดารารัศมี จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคม่านตาอักเสบ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 28 พฤษภาคม 2565