bih.button.backtotop.text

ภาวะม่านตาอักเสบ

ภาวะม่านตาอักเสบ หรือ ยูเวียอักเสบ (Uveitis) เป็นคำรวมๆที่ใช้เรียกภาวะที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อส่วนกลาง (Uvea)ภายในลูกตา ซึ่งเนื้อเยื่อส่วนนี้จะมีเส้นเลือดเป็นส่วนประกอบมากมาย เมื่อมีการอักเสบจึงสามารถส่งผลต่อการมองเห็นได้เป็นอย่างมาก สามารถทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ดังนั้นหากสงสัยว่าป่วยเป็นภาวะม่านตาอักเสบหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง อาจต้องปรึกษาจักษุแพทย์เฉพาะทางสาขาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ (Uveitis specialist) เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป

ชนิดของม่านตาอักเสบ

การอักเสบของยูเวียสามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ เช่น

  • แบ่งตามกายวิภาค คือ แบ่งเป็นการอักเสบส่วนหน้า(anterior) ส่วนกลาง(interior) ส่วนหลัง(posterior) และทั้งหมดของดวงตา รวมถึงตาขาวอักเสบและเส้นเลือดจอตาอักเสบ
  • แบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งมีด้วยกันหลายสาเหตุ อาทิ
    • การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อโปรโตชัว เชื้อรา เชื้อวัณโรค เป็นต้น
    • การอักเสบที่สัมพันธ์กับการแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรค SLE โรคผิวหนังแข็ง(Scleroderma) โรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากยีน HLA-B27
    • การอักเสบที่เกิดจากโรคทางกายอื่นๆ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) มะเร็งเม็ดเลือด (Leukemia) เป็นต้น
    • การอักเสบที่เกิดจากการใช้ยา
    • การอักเสบจากอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนบริเวณดวงตา
    • การอักเสบที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ (Idiopathic)

นอกจากนี้ภาวะม่านตาอักเสบยังมีทั้งชนิดที่เป็นการอักเสบแบบเฉียบพลันซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการ

มองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น ผู้ป่วยโรค SLE ที่มีภาวะจอประสาทตาอักเสบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงจอตาลดลงหรือขาดเลือดทันทีทันใด และชนิดที่เป็นการอักเสบแบบเรื้อรัง คือเป็นการอักเสบแบบต่อเนื่อง เป็นๆ หายๆ

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านม่านตาอักเสบในการวินิจฉัยหาตำแหน่งที่แน่ชัดและสาเหตุของการอักเสบ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งการวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการซักประวัติ เนื่องจากร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมักจะกลับมาเป็นซ้ำ พร้อมทั้งตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ตรวจสารทางพันธุกรรมเพื่อนำผลมาใช้ในการยืนยันสาเหตุ ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการฉีดสีเพื่อประเมินจอตาร่วมด้วย

ในกรณีของภาวะม่านตาอักเสบส่วนหน้า ผู้ป่วยมักมีอาการดังต่อไปนี้ คือ

  • ตาแดงโดยเฉพาะบริเวณใกล้กับขอบกระจกตาดำ มักไม่มีขี้ตา แต่อาจมีน้ำตาไหลได้
  • ตามัวลง แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบและภาวะแทรกซ้อน
  • สู้แสงไม่ได้
  • ปวดตา
  • เห็นจุดลอยไปมา

ส่วนภาวะม่านตาอักเสบที่สัมพันธ์กับโรคทางกายอื่นๆ ก็จะมีอาการของโรคนั้นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหลังจากโรคของกระดูกและข้อ ดังนั้นผู้ป่วยอาจได้รับการวินิจฉัยโรคอื่นก่อนแล้วจึงมีอาการของม่านตาอักเสบ หรือในทางตรงกันข้ามอาจเกิดภาวะม่านตาอักเสบก่อนแล้วพบว่ามีโรคอื่นที่สัมพันธ์กัน

หลักการรักษาภาวะม่านตาอักเสบคือแก้ไขที่ต้นเหตุ ควบคุมการอักเสบและลดภาวะแทรกซ้อน ฉะนั้นจำเป็นที่แพทย์จะต้องซักประวัติอย่างละเอียดทั้งทางกายและทางตา ร่วมกับการตรวจร่างกายและการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำแล้วจึงให้การรักษาต่อไป ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

  • รักษาโรคที่เป็นสาเหตุหรือที่เกิดร่วมกับภาวะม่านตาอักเสบ
  • หากเป็นการอักเสบแบบไม่มีการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิเพื่อลดการอักเสบซึ่งมีทั้งชนิดหยอด ชนิดรับประทาน และชนิดฉีด
  • หากเป็นการอักเสบที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อซึ่งมีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด
  • รักษาภาวะแทรกซ้อนจากภาวะม่านตาอักเสบเอง เช่น ต้อกระจก ผังผืดในตา ต้อหิน จอตาบวมเป็นต้น

ปัจจุบันองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการวินิจฉัยภาวะม่านตาอักเสบได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้การพยากรณ์โรคมีความแม่นยำและแพทย์สามารถเฝ้าระวังโรคด้วยการให้ยาป้องกันแก่ผู้ป่วยได้ในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยภาวะม่านตาอักเสบส่วนหน้าในส่วนที่สัมพันธ์กับยีน HLA-B27 ที่เป็นบ่อยกว่า 3 ครั้งต่อปี แพทย์อาจพิจารณาให้ยาในกลุ่ม NSAIDs หรือซัลฟาซาลาซีน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาวะม่านตาอักเสบมีความแตกต่างจากโรคอื่นๆ อยู่มากโดยเฉพาะการอักเสบแบบเรื้อรังเนื่องจากมีโอกาสเกิดซ้ำสูง ผู้ป่วยจำนวนมากจึงต้องอยู่กับโรคไปตลอดชีวิต ดังนั้นการทราบสาเหตุที่แน่ชัด การรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของโรคจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง ลดโอกาสเกิดโรคซ้ำและลดภาวะแทรกซ้อนลงได้

หากท่านสงสัยว่ากำลังมีภาวะม่านตาอักเสบหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรปรึกษาจักษุแพทย์เฉพาะทางสาขาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ (uveitis specialist) เพื่อการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

แก้ไขล่าสุด: 26 ธันวาคม 2563

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

Doctors Related

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.92 of 10, จากจำนวนคนโหวต 71 คน

Related Health Blogs