เพราะทุกนาทีมีความหมาย..การผ่าตัดมะเร็งด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบไปด้วยอวัยวะหลายส่วนที่ทำงานร่วมกันเพื่อผลิตและขับปัสสาวะออกจากร่างกาย โดยอวัยวะหลักๆ ได้แก่ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และต่อมลูกหมากในเพศชายซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ
โรคของระบบทางเดินปัสสาวะที่พบบ่อยจึงมักเกี่ยวข้องกับอวัยวะเหล่านี้ เช่น โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคนิ่วในไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ
โรคไตเรื้อรัง และโรคมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะโดยเฉพาะมะเร็งไต และ
มะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคมะเร็งไตเป็นหนึ่งในโรคระบบทางเดินปัสสาวะที่ได้รับประโยชน์จากการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพราะการผ่าตัดถือเป็นการรักษาหลักในกรณีที่เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกนอกไต และไตเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกและมีลำไส้ซ้อนอยู่ ทั้งยังอยู่ใกล้หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ ทำให้ศัลยแพทย์ต้องใช้ความแม่นยำอย่างมาก ส่วนการใช้
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้รับการยอมรับจากศัลยแพทย์ทั่วโลกมานานกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนเนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกและเข้าถึงได้ยาก การผ่าตัดแบบปกติจึงอาจมีอุปสรรคในการเก็บกล้ามเนื้อที่ควบคุมการกลั้นปัสสาวะและการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ขณะที่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสามารถเคลื่อนไหวในตำแหน่งที่คับแคบหรือลึกได้อย่างอิสระมากกว่ามือมนุษย์ ทำให้การตัดเลาะแยกต่อมลูกหมาก กล้ามเนื้อหูรูด และเส้นประสาททำได้ดีกว่า ผู้ป่วยจึงมีโอกาสที่จะควบคุมการกลั้นปัสสาวะและคงสมรรถภาพทางเพศไว้ได้ดีขึ้น
ขั้นตอนการผ่าตัด
หลังจากได้รับยาระงับความรู้สึกและใส่ท่อช่วยหายใจโดยวิสัญญีแพทย์แล้ว ผู้ป่วยจะถูกจัดให้อยู่ในท่าตะแคง แขนกลหุ่นยนต์ที่อยู่ด้านข้างเตียงผู้ป่วยจะทำหน้าที่สอดใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กๆ 4 ตำแหน่งบริเวณผนังหน้าท้อง ขณะผ่าตัดศัลยแพทย์จะใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในช่องท้องเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการผ่าตัดและทำให้มองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจนขึ้น
ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านจอภาพจากส่วนควบคุมสั่งการ (console) ที่อยู่ภายในห้องผ่าตัด โดยระบบจะถ่ายทอดสัญญาณการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์จากมือ ข้อมือ และนิ้วของแพทย์ไปยังเครื่องมือผ่าตัดที่ติดอยู่กับแขนกลหุ่นยนต์เพื่อทำการผ่าตัดภายในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะมองเห็นได้จากกล้องกำลังขยายสูงแบบ 3 มิติซึ่งให้ภาพของอวัยวะภายในรวมถึงเนื้อเยื่อและเส้นประสาทอย่างชัดเจน ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูงมาก
สำหรับมะเร็งไต การผ่าตัดเอาเนื้องอกร้ายออกและเย็บเนื้อเยื่อไตที่เหลือเข้าด้วยกัน จำเป็นต้องทำในขณะที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยงไต แพทย์จึงต้องหยุดเลือดที่มาเลี้ยงไตชั่วคราวด้วยการใช้อุปกรณ์หนีบห้ามเลือด ซึ่งไม่ควรหยุดนานเกินกว่า 25-30 นาทีเพื่อรักษาสภาพไต การผ่าตัดเอาเนื้อไตออกบางส่วนจึงเป็นการผ่าตัดที่ต้องทำแข่งกับเวลา การผ่าตัดและเย็บจะต้องรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูงสุด หลังการผ่าตัด แพทย์จะใส่สายระบายน้ำเหลืองและเศษเลือดภายในออกมาทางผนังหน้าท้อง ซึ่งจะถอดออกประมาณ 2-3 วันหลังผ่าตัดเพื่อตรวจสอบว่ามีปัสสาวะรั่วจากแผลผ่าตัดหรือไม่ การผ่าตัดเอาเนื้อไตออกบางส่วนใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง
สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก ศัลยแพทย์จะตัดเอาต่อมลูกหมากรวมทั้งเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียง ได้แก่ ท่อนำอสุจิ ถุงเก็บอสุจิ และต่อมน้ำเหลือง จากนั้นจะเย็บท่อปัสสาวะต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะ หลังการผ่าตัด แพทย์จะใส่สายระบายน้ำเหลืองและเศษเลือดภายในออกมาทางผนังหน้าท้องเพื่อตรวจสอบว่ามีปัสสาวะรั่วจากแผลผ่าตัดหรือไม่ โดยจะใส่ไว้ประมาณ 3-4 วัน และจะคาสายสวนปัสสาวะไว้เพื่อทำหน้าที่ระบายปัสสาวะเป็นเวลา 7 วัน การผ่าตัดใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมง
เรียบเรียงโดย
ผศ.นพ. ธีรพล อังกูลภักดีกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: