bih.button.backtotop.text

ลูกโป่ง สัญลักษณ์แห่งความรื่นเริง ที่ไม่ควรมองข้าม

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเด็กทุกคนชอบเล่นลูกโป่งเพราะสีสันและรูปแบบที่สวยงาม อย่างไรก็ตามคณะกรรมการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคแห่งสหรัฐอเมริกา (CPSC) ได้เตือนผู้ปกครองถึงอันตรายของลูกโป่งที่มีต่อเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าและเศษของลูกโป่งที่แตกแล้ว ลูกโป่งเป็นของเล่นลำดับต้นๆที่ทำให้เด็กเสียชีวิตจากการขาดอาการหายใจในประเทศสหรัฐอเมริกา และส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีแต่ลูกโป่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็กที่โตกว่านั้นได้เช่นกัน


ทำไมลูกโป่งจึงเป็นอันตรายต่อเด็ก


ลูกโป่งยางลาเท็กซ์ (Latex balloons) เป็นลูกโป่งที่เหมาะกับการประดับงานเลี้ยงมากกว่าเป็นของเล่นสำหรับเด็ก เพราะอาจทำให้เด็กสำลักและขาดอากาศหายใจด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
  • เป่าลูกโป่ง เด็กอาจกลืนลูกโป่งเข้าไปขณะเป่าลูกโป่ง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เด็กสูดลมหายใจเพื่อให้มีแรงเป่าลูกโป่ง ทำให้ลูกโป่งหลุดเข้าไปในช่องปากและลำคอ หรือเด็กเล็กบางคนเคี้ยวและดูดลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่า ทำให้ลูกโป่งหลุดเข้าไปในลำคอ
  • เศษลูกโป่งติดคอ เด็กบางคนนำเศษลูกโป่งที่แตกแล้วมาเคี้ยวเล่นหรือนำเศษลูกโป่งที่แตกแล้ว มายืดและแนบกับปากเพื่อเป่าให้พองหรือดูดให้เป็นรอยบุ๋ม ซึ่งเศษลูกโป่งเหล่านี้อาจหลุดเข้าไปในลำคอและปอด อุดกั้นทางเดินหายใจได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้ลูกโป่งยางลาเท็กซ์ยังอาจมีสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งประเภทหนึ่ง รวมถึงโปรตีนในยางลาเท็กซ์ธรรมชาติสามารถทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ลูกโป่งเติมก๊าซฮีเลียม (Helium balloons) ถึงแม้ก๊าซฮีเลียมเป็นก๊าซเฉื่อยและไม่ติดไฟก็ตาม แต่เป็นอันตรายต่อเด็กได้เช่นกัน เพราะหากเด็กสูดดมก๊าซฮีเลียมเข้าไปในร่างกายมากเกินไป จะทำให้ร่างกายขาดอ็อกซิเจน หมดสติและอาจเสียชีวิตได้

ลูกโป่งเติมก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen balloons) ก๊าซไฮโดรเจนเป็นก๊าซที่ไวต่อประกายไฟ ดังนั้นเมื่อโดนความร้อนหรือประกายไฟ ลูกโป่งจะระเบิด ซึ่งอาจทำให้เปลวไฟลวกผิวหนังและเสียชีวิตได้
 

ป้องกันเด็กจากอันตรายของลูกโป่งได้อย่างไร

การป้องกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เด็กได้รับอันตรายจากการเล่นลูกโป่ง โดยวิธีการป้องกันสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
  • ไม่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปีเล่นกับลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเพียงลำพัง
  • เก็บเศษลูกโป่งทิ้งทันทีที่ลูกโป่งแตก
  • เลือกลูกโป่งที่บรรจุก๊าซฮีเลียมเพราะปลอดภัยกว่าลูกโป่งที่บรรจุก๊าซไฮโดรเจน
  • หลีกเลี่ยงการเก็บลูกโป่งอัดก๊าซไว้ในที่ร้อน เช่นในรถยนต์ ใกล้หลอดไฟและเปลวไฟ
  • ไม่ควรนำลูกโป่งมามัดกันเป็นพวง เพราะการเสียดสีอาจทำให้ลูกโป่งแตกหรือระเบิดได้
  • ไม่ควรให้เด็กเป่าลูกโป่งโดยตรง ควรให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ใช้เครื่องสูบลมเป่าลูกโป่งแทน 
  • ใช้ลูกโป่งไมลาร์ (ลูกโป่งที่ทำจากอะลูมิเนียมฟอยล์) แทนลูกโป่งยางลาเท็กซ์เพื่อป้องกันการสำลักติดคอ
 

ควรทำอย่างไรหากลูกโป่งติดคอเด็ก

การช่วยเด็กด้วยวิธีเฮมลิก แมนูเวอร์ (Heimlich Maneuver) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ช่วยผู้ที่มีอาการสำลักโดยทั่วไป อาจทำให้เด็กมีอาการแย่ลงเพราะลูกโป่งมีความลื่นและอาจทำให้ลูกโป่งอุดตันช่องทางเดินหายใจจนสมบูรณ์ ถึงแม้จะมองเห็นลูกโป่ง แต่การพยายามดึงลูกโป่งออกมาโดยใช้มือ อาจทำให้ลูกโป่งลื่นหลุดเข้าไปอุดตันหลอดลมได้เช่นกัน แพทย์แนะนำให้วิธีเฮมลิก แมนูเวอร์ (Heimlich Maneuver) หากลูกโป่งอุดตันช่องทางเดินหายใจจนสมบูรณ์ วิธีที่ดีที่สุดคือการรีบพาเด็กไปยังแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการนำลูกโป่งออกจากหลอดลมของเด็ก
 

เรียบเรียงโดย ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์




 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 13 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs