bih.button.backtotop.text
หลังการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่แล้ว ผู้ป่วยอาจสงสัยว่าข้อเทียมจะมีอายุใช้งานได้ยืนยาวมากน้อยแค่ไหนและอาการอย่างไรที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าถึงเวลาต้องผ่าตัดแก้ไขข้อเทียม รวมถึงข้อสงสัยอีกมากมายที่เราจะช่วยให้คำตอบในที่นี้


Q: โดยปกติข้อเทียมใช้งานได้นานแค่ไหน

A: อายุการใช้งานของข้อเทียมขึ้นอยู่กับการใช้งาน อายุของผู้ป่วย วัสดุที่ใช้ การดูแลตัวเองของผู้ป่วยและความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ ในปัจจุบัน อายุการใช้งานของข้อเทียมยาวนานขึ้น โดยมากกว่า 90% ใช้งานได้ 10-20 ปีเลยทีเดียว
 

Q: ทำไมจึงต้องทำการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่

A: สาเหตุของการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมมีได้หลายประการ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยมีอยู่ 4 ประการด้วยกันคือ
  1. ข้อเทียมหลวม ตามหลังการใช้งานเป็นระยะเวลานาน
  2. ข้อเทียมติดเชื้อ
  3. กระดูกแตกร้าวรอบข้อเทียม  
  4. ข้อเทียมเคลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิม ปัญหานี้พบได้บ่อยกับข้อสะโพกเทียมมากกว่าข้อเข่าเทียม
 

Q: อาการใดบ้างที่บ่งบอกว่าข้อเทียมมีปัญหา

A: ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ และอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับประเภทของการผ่าตัด ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ เป็นสัญญาณเตือนว่าข้อเทียมมีปัญหา
  • เจ็บปวดบริเวณข้อสะโพกหรือหัวเข่า
  • มีอาการบวมบริเวณข้อสะโพกหรือหัวเข่า
  • เคลื่อนไหวได้จำกัด
  • รู้สึกข้อไม่มั่นคง ไม่สามารถรักษาสมดุลของร่างกายหรือมีเสียงดังแปลกๆในขณะเคลื่อนไหว
  • มีอาการอักเสบ ผิวบริเวณข้อเทียมอาจมีสีแดงและอุ่น
 

Q: แพทย์ใช้วิธีการวินิจฉัยอย่างไรว่าผู้ป่วยควรผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่

A: แพทย์จะใช้เครื่องมือดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติบริเวณข้อเทียมนั้น ๆ และพิจารณาว่าผู้ป่วยควรผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมหรือไม่
  • การตรวจร่างกาย
  • ผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการ
  • เอกซเรย์
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
  • การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
 

Q:  การผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใช้เวลานานเท่าไร

A: ระยะเวลาในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของกระบวนการผ่าตัด โดยส่วนใหญ่แล้วการผ่าตัดใช้เวลาอย่างน้อยสองเท่าของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในครั้งแรก หรือใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง และอาจนานกว่าในกรณีที่ซับซ้อน การผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ เป็นการผ่าตัดเฉพาะทางที่ต้องใช้เทคนิคและเครื่องมือพิเศษเฉพาะทางเท่านั้น
 

Q: จะหลีกเลี่ยงการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ได้อย่างไร

A:
  • ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมครั้งแรก
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อให้ข้อและสุขภาพโดยรวมแข็งแรง
  • สังเกตอาการและแจ้งแพทย์ทันทีเมื่อพบปัญหา
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานข้อหนัก เช่น เดินขึ้นลงบันไดเป็นประจำ
  • อย่าเล่นกีฬาที่ใช้แรงกระแทกมาก เช่น วิ่งหรือกระโดดและไม่ถือของหนักจนเกินไป
  • ที่สำคัญคือควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทกน้อย เช่น ว่ายน้ำหรือขี่จักรยาน 
นอกจากนี้ให้ระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อโดยการใช้ยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง และป้องกันไม่ให้ฟันผุ ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ลำคอ ผิวหนังและปอด หากเกิดการติดเชื้อให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันทีก่อนที่เชื้อจะแพร่กระจายไปยังข้อเทียม
 

Q: ข้อเทียมที่ผ่าตัดแก้ไขสามารถใช้งานได้นานแค่ไหน

A: ข้อเทียมที่แก้ไขอาจใช้งานได้นานเท่ากับข้อเทียมแรก แต่ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการผ่าตัดและคาดคะเนอายุการใช้งานได้ยากกว่าข้อเทียมที่ใช้ในการผ่าตัดครั้งแรก นอกจากนี้การผ่าตัดซ้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของข้อลดลงจากการก่อตัวของเนื้อเยื่อแผลเป็นหรือพังผืด
 

Q: สามารถผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ได้ทั้งหมดกี่ครั้ง

A: ถึงแม้การผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ สามารถทำได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ผ่าตัด แต่การผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ ยิ่งมากครั้งเท่าไร ยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีเนื้อเยื่อแผลเป็นในกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบากยิ่งขึ้น
 

Q: ใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดนานเท่าใด

A: ระยะเวลาในการฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมครั้งแรก ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายฟื้นตัวได้เร็วกว่าและรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าการผ่าตัดครั้งแรก แต่หากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อ ระยะเวลาการพักฟื้นอาจยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น
 

Q: ชุดอวกาศสำหรับการผ่าตัด (Surgical Space Suit) ที่ศัลยแพทย์ใส่ระหว่างการผ่าตัดเปลี่ยนข้อช่วยป้องกันผู้ป่วยจากการติดเชื้อได้อย่างไร

A: ชุดอวกาศสำหรับการผ่าตัดประกอบด้วยหมวกและเสื้อคลุมที่ทำจากวัสดุพิเศษ สามารถป้องกันการติดเชื้อจากลมหายใจ เหงื่อและน้ำลายของศัลยแพทย์ จึงช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยในการติดเชื้อระหว่างการผ่าตัดได้
 

Q: แพทย์มีวิธีใดบ้างที่จะช่วยผู้ป่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังการผ่าตัด

A: มีหลาย ๆ วิธีที่ช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อของแผลผ่าตัด ซึ่งได้แก่
  • มีความเข้มงวดในเทคนิคปราศจากเชื้อทุกขั้นตอนตามมาตรฐานสากล
  • สวมใส่ชุดอวกาศสำหรับการผ่าตัด ประกอบด้วย หมวกและเสื้อคลุมที่ทำจากวัสดุพิเศษ สามารถป้องกันการติดเชื้อจากลมหายใจ เหงื่อและน้ำลายของศัลยแพทย์ จึงช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยในการติดเชื้อระหว่างการผ่าตัดได้
  • ใช้ซีเมนต์ยึดกระดูกที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อ
  • ใช้ไหมเย็บหรืออุปกรณ์ปิดแผลที่มีการเคลือบสารป้องกันเชื้อแบคเรีย
 

Q: จะป้องกันการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันหลังการผ่าตัดได้อย่างไร

A: การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำใหญ่ (Deep venous thrombosis หรือ DVT) ที่ขา เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ โดยแพทย์สามารถป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้โดย
  • ให้ยาที่ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหลังจากการผ่าตัด  แพทย์จะพิจารณาเลือกชนิดยาตามความเหมาะสม ในผู้ป่วยทุกราย หากไม่มีข้อห้าม
  • ใช้ถุงน่องทางการแพทย์ (Graduated compression stockings) ซึ่งจะมีแรงกดรอบขา ช่วยป้องการก่อตัวของลิ่มเลือดที่ขาระหว่างพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
  • ใช้เครื่องมือที่ใช้ลมบีบเพื่อเกิดแรงกดเป็นระยะ (intermittent pneumatic compression) เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
  • ใช้เครื่องปั๊มป้องกันหลอดเลือดอุดตัน  (Foot impulses devices) โดยแพทย์จะยึดเครื่องปั๊มที่ฝ่าเท้าของผู้ป่วย เครื่องปั๊มจะพองตัวขึ้นทุก 20 วินาที เพื่อกระตุ้นเท้าเป็นจังหวะ ช่วยให้เลือดที่ขาไหลเวียน


Q: แพทย์จะตัดไหมเมื่อไร

A: เมื่อแผลหายสนิท โดยระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด แต่ปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่มักเย็บด้วยไหมละลาย หรือใช้กาวปิดแผล ซึ่งให้ความแข็งแรงที่ดีมากและไม่ต้องตัดไหมในภายหลัง
 

Q: จะกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้เมื่อใด

A: ความช้าเร็วในการกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย
  • การขับรถ มักทำได้หลังการผ่าตัดประมาณ 4-6 สัปดาห์ และต้องให้แพทย์ยืนยันก่อนว่าผู้ป่วยสามารถขับรถได้
  • การมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเพศสัมพันธ์ได้หลังการผ่าตัดเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายต้องรอประมาณ 6-12 สัปดาห์
  • การเล่นกีฬาเบา ๆ สามารถเล่นได้หลังการผ่าตัด 3 เดือน สำหรับกีฬาว่ายน้ำ ควรรอให้แผลแห้งสนิทเสียก่อน


Q: ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมไปแล้ว ยังต้องรับประทานยากลุ่มกลูโคซามีนอยู่หรือไม่

A: ไม่มีประโยชน์ต่อข้อต่อข้างที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมแล้ว นอกจากนี้ก่อนรับประทานยาใด ๆ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
 

Q: ประโยชน์ของการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่

A: เช่นเดียวกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม การผ่าตัดแก้ไขข้อเทียม ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวและเดินได้เป็นปกติ รวมถึงลดอาการเจ็บปวดของข้อ เมื่อใช้งานข้อต่อได้ดี คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน
 
 

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 13 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs