bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ (Revision Joint Replacement Surgery)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมถือได้ว่าเป็นการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเสื่อมสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยอัตราการอยู่รอดของข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมนั้นสูงถึง 95% ที่ 10-15 ปี อย่างไรก็ดีมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดข้อเทียมซํ้า (Revision Surgery)

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขซํ้า
  1. การหลวมของข้อเทียมที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ (Aseptic loosening) สาเหตุนี้เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ต้องมีการผ่าตัดแก้ไขซํ้า เป็นผลมาจากการสึกหรอของข้อเทียม ทำให้เกิดเศษอนุภาคของส่วนประกอบในข้อเทียมหลุดออกมา และกระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายมีการกัดกินกระดูก ทำให้ข้อเทียมสูญเสียความมั่นคงในการยึดติดกับกระดูกของผู้ป่วย
  2. การติดเชื้อบริเวณโดยรอบข้อเทียม (Periprosthetic joint infection) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมทันที หรือเกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดมาแล้วเป็นเวลานานก็ได้ เมื่อมีการติดเชื้อ เชื้อโรคมักจะไปจับอยู่กับข้อเทียมที่ใส่ไว้ ทำให้การรักษาโดยการให้ยาต้านจุลชีพและการผ่าตัดล้างเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้การติดเชื้อหายขาดได้ และถ้าหากทิ้งไว้นาน ๆ ก็จะทำให้มีการทำลายกระดูก และมีการหลวมของข้อเทียมตามมา
  3. ความไม่มั่นคงของข้อต่อหลังใส่ข้อเทียม (Instability of prosthesis) อาจจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การสึกหรอของข้อเทียม ตำแหน่งของข้อเทียมไม่เหมาะสม หรือเกิดหลังจากอุบัติเหตุที่ทำให้มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่ออ่อนและเส้นเอ็นโดยรอบของข้อนั้น ๆ เป็นต้น
  4. มีกระดูกบริเวณข้อเทียมนั้นแตกหัก (Periprosthetic fracture) โดยมากมักเกิดตามหลังอุบัติเหตุ  ทำให้เกิดกระดูกหักรอบ ๆ ข้อเทียม การรักษาก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้น ต้องมีการยึดดามกระดูกและอาจจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อเทียมแบบพิเศษในการผ่าตัดรักษาด้วย
ข้อมูลจาก American Joint Replacement Registry (AJRR) ปี 2018  พบว่าสาเหตุที่ต้องทำการผ่าตัดซ่อมเสริมและเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมใหม่ (Revision Total Hip Replacement) ที่พบบ่อยนั้น ได้แก่ ภาวะกระดูกหักใกล้กับข้อสะโพกเทียม ภาวะข้อสะโพกเทียมหลุดซ้ำหรือไม่มั่นคง ภาวะติดเชื้อ และภาวะข้อเทียมหลวมสึกหรอ

ผู้ป่วยที่มีปัญหาการใช้งานของข้อสะโพกเทียม อาจมาด้วยอาการ ปวด บวม มีไข้ ข้อหลุดหลวม หรือขาข้างนั้นสั้นลง
การวินิจฉัยถึงสาเหตุ แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย เอกซเรย์ เจาะเลือด หรือส่งตรวจพิเศษอื่นๆ มักต้องแยกสาเหตุจากการติดเชื้อให้ได้ก่อนเสมอ


แนวทางการรักษาจึงเป็นไปตามสาเหตุนั้นๆ  ซึ่งโดยมากมักจะต้องผ่าตัด อาจจะแค่เข้าไปล้างทำความสะอาด เปลี่ยนส่วนประกอบของข้อเทียมแค่บางส่วน หรือเอาของเก่าออกทั้งหมดและใส่ข้อเทียมใหม่ ซึ่งความซับซ้อนในการผ่าตัดก็จะมากขึ้นตามลำดับ การผ่าตัดอาจจำเป็นต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง โดยเฉพาะปัญหาการติดเชื้อของข้อเทียม เนื่องจากเป็นการผ่าตัดซ้ำ มีความซับซ้อน ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน เช่น การบาดเจ็บเส้นประสาท ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน มักพบมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ผู้ป่วยที่อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ่อมเสริมและเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใหม่ ได้แก่
1. ภาวะกระดูกหักรอบข้อสะโพกเทียม
2. ภาวะข้อสะโพกเทียมหลุดซ้ำ
3. ภาวะติดเชื้อของข้อสะโพกเทียม
4. ภาวะที่มีการหลวมสึกหรอของส่วนประกอบข้อเทียม
 

ข้อมูลจาก American Joint Replacement Registry (AJRR) ปี 2018  พบว่าสาเหตุที่ต้องทำการผ่าตัดซ่อมเสริมและเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใหม่ (Revision Total Knee Replacement) ที่พบบ่อยนั้น ได้แก่ ภาวะข้อเข่าเทียมหลวม และภาวะติดเชื้อของข้อเข่าเทียม

ผู้ป่วยที่มีปัญหาการใช้งานของข้อเข่าเทียม จะมาด้วยอาการต่างกันออกไป โดยมากมักจะให้ประวัติมีการใช้งานที่แย่ลง ปวด บวม มีไข้ ข้อยึดติด บางครั้งเดินทรุดจากความไม่มั่นคงของข้อเข่า


การวินิจฉัยถึงสาเหตุ แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย เอกซเรย์ อาจมีการเจาะข้อเข่าเพื่อตรวจน้ำในข้อ  เจาะเลือด หรือส่งตรวจพิเศษอื่น ๆ ควรแยกสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อให้ได้ก่อนเสมอ


แนวทางการรักษาจึงเป็นไปตามสาเหตุนั้นๆ  ซึ่งบ่อยครั้งที่ลงเอยด้วยการผ่าตัดอาจจะแค่เข้าไปล้างทำความสะอาด เปลี่ยนส่วนประกอบของข้อเทียมแค่บางส่วนหรือเอาของเก่าออกทั้งหมดและใส่ข้อเทียมใหม่ ซึ่งความซับซ้อนในการผ่าตัดก็จะมากขึ้นตามลำดับ การผ่าตัดอาจจำเป็นต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง โดยเฉพาะปัญหาการติดเชื้อของข้อเทียม

ผู้ป่วยที่อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ่อมเสริมและเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใหม่ ได้แก่
1.  ภาวะข้อเข่าเทียมหลวม
2.  ภาวะติดเชื้อของข้อเข่าเทียม
3.  ภาวะกระดูกหักรอบข้อเข่าเทียม
4.  ภาวะข้อเข่ายึดติดใช้งานไม่ดี
5.  ภาวะข้อเข่าไม่มั่นคง
6.  ภาวะที่มีการสึกหรอของส่วนประกอบข้อเทียม
แก้ไขล่าสุด: 02 กันยายน 2562

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 2 คน

Related Health Blogs