มะเร็งกระเพาะปัสสาวะอาจจะไม่ใช่มะเร็งที่คุ้นหูเราเท่ากับ
มะเร็งปอดหรือ
เต้านม แต่ก็เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยไม่น้อยทีเดียว
จากสถิติขององค์การอนามัยโลกในปีพ.ศ. 2561 มะเร็งกระเพาะปัสสาวะถือเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสิบของโลก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งอันดับที่สิบสอง ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ
แนวโน้มของผู้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ จากเดิมค่าเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 60-70 ปี แต่ปัจจุบันพบในกลุ่มที่มีอายุไม่ถึง 40 ปี มากขึ้น
นอกจากนี้ อัตราการรอดชีวิตในช่วงเวลาห้าปีหลังวินิจฉัยพบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะยังหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง โดยขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคเมื่อตรวจพบเป็นสำคัญ โดย
ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคตั้งแต่มะเร็งยังจำกัดวงอยู่ในผนังชั้นในของกระเพาะปัสสาวะ (ส่วนใหญ่แล้ว มะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะเป็น
ชนิดที่เกิดกับเซลล์เยื่อบุผนังภายในกระเพาะปัสสาวะ [transition or urothelial cell carcinoma]) นั้น
จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 96 เลยทีเดียว ขณะที่หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อรอบด้านหรืออวัยวะอื่น ๆ แล้ว โอกาสจะลดฮวบเหลือเพียงร้อยละ 33
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า
การตรวจพบแต่เนิ่น ๆ จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ถึงสามเท่า และในขณะเดียวกัน วงการแพทย์ก็ยังขาดวิธีรักษามะเร็งในระยะแพร่กระจายที่ได้ผล ว่าแต่ในปี 2020 นี้ สถานการณ์ยังเป็นเช่นนั้นหรือไม่
ลองมาดูกันว่าการค้นพบใหม่ในการรักษามะเร็งเฉพาะจุดจะผ่าทางตันให้ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะแพร่กระจายได้อย่างไร
วิธีรักษาในปัจจุบัน
หากตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก
แพทย์ก็มักจะใช้วิธีผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อตัดและเลาะเนื้อร้ายทิ้งไป ควบคู่กับการทำเคมีบำบัดโดยใส่ยาฆ่ามะเร็งผ่านสายสวนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะโดยตรง แต่ในกรณีที่มะเร็งลุกลามกว่านั้น ก็อาจต้องให้ยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือด รังสีรักษา หรืออาจต้องตัดกระเพาะปัสสาวะทิ้งแล้วสร้างทางระบายขึ้นใหม่ ซึ่งการตัดกระเพาะปัสสาวะนั้นเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและมีความเสี่ยง โดยในผู้ชายจะต้องตัดต่อมลูกหมากและถุงเก็บอสุจิออกไปด้วย ขณะที่ในผู้หญิง ต้องตัดมดลูก รังไข่ ไปจนถูกช่องคลอดบางส่วนออก และในบางกรณีโรคก็ลุกลามจนแม้กระทั่งการตัดอวัยวะนั้นก็ไม่มีประโยชน์แล้ว
มุ่งมั่นสู่อนาคต
การค้นคว้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ค้นพบว่า
เซลล์มะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดที่เกิดกับเซลล์เยื่อบุผนังภายในกระเพาะปัสสาวะ (urothelial cell) ซึ่งเป็นชนิดที่พบในร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั้น มีความผิดปกติของยีนที่เรียกว่า FGFR (Fibroblast growth factor receptor) ซึ่งตามปกติแล้ว เจ้ายีนที่ว่านี้มีหน้าที่ช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ เจริญเติบโตและแบ่งตัว แต่หากมันผิดปกติเข้า ก็จะทำให้การเจริญเติบโตและแบ่งตัวนั้นผิดปกติไป จนกลายเป็นมะเร็งขึ้นมาได้
ด้วยความที่
ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะลุกลามทุก ๆ 1 คน จาก 5 คน มีความผิดปกติของยีนตัวนี้ ยาที่เข้าไปขัดขวางการทำงานของยีนดังกล่าวได้อย่างจำเพาะเจาะจง จึงมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง
และเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็ได้รับข่าวที่น่ายินดี เมื่อองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) อนุมัติให้ใช้ erdafitinib อันเป็นยาชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของยีนดังกล่าว ในฐานะยารักษาแบบเฉพาะจุดตัวแรกสำหรับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะลุกลามหรือแพร่กระจายในผู้ใหญ่ ผ่านช่องทางการพิจารณาแบบเร่งด่วน เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็นของผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลาม ที่แม้จะได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้วก็ยังไม่ได้ผล ทั้งยังไม่สามารถอาศัยการผ่าตัดช่วยให้หายขาดได้
เนื่องจากเป็นการพิจารณาแบบเร่งด่วน จำนวนผู้ป่วยในการศึกษาที่นำไปสู่การอนุมัติให้ใช้ยานั้นจึงอยู่ในวงจำกัด แต่ผลที่ได้ก็น่าทึ่งมากทีเดียวและที่สำคัญ กระทั่งผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดบางตัว ก็ยังตอบสนองต่อ erdafitinib ได้ นอกจากนี้
FGFR ยังเป็นโปรตีนที่พบได้ทั่วไปในเซลล์ต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกาย ทำให้ยาที่ขัดขวางการทำงานของ FGFR ที่ผิดปกติได้ ก็น่าจะมีประโยชน์ต่อการรักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (NSCLC) มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งที่รักษายากที่สุดชนิดหนึ่ง คือมะเร็งสมองกลิโอมา (glioma) โดยในกรณีหลังนั้น ได้เข้าสู่ขั้นการศึกษาในผู้ป่วยจริงแล้ว ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงผู้ที่เคยรักษามะเร็งแล้วแต่กลับเป็นซ้ำอีกครั้ง
Erdafitinib จึงก้าวมาจุดประกายแห่งความหวังในการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะลุกลาม และอาจจะนำไปสู่หนทางใหม่ในการรักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ป่วยก็ต้องได้รับการตรวจหาความผิดปกติของยีน FGFR ก่อน ทั้งยังต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมจะให้การดูแลอยู่แล้ว เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิผลที่สูงสุด
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 31 มีนาคม 2567