มะเร็งกระเพาะอาหาร ตรวจไว รู้ก่อน รักษาได้ง่าย
รายงานในปี 2563 ขององค์การอนามัยโลกได้เผยให้เห็นว่า คนทั่วโลกป่วยเป็นโรคมะเร็งประมาณ 19 ล้านคนและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 9.9 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีผู้ป่วย
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารถึง 1 ล้านคนหรือเ
ป็นมะเร็งที่พบมากที่สุด
เป็นอันดับ 5 ทั่วโลก ซึ่งในผู้ป่วย 1 ล้านคนนี้ ต้องเสียชีวิตจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารราว 7.6 แสนคน ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด
จากสถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่สูงนี้ ทำให้หลายๆประเทศได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค ด้วยการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่มีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูง เช่น ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้ได้ใช้กลยุทธ์ตรวจประชากรทุกคนหรือ universal screening strategies โดยประเทศญี่ปุ่นเริ่มตรวจประชากรทุกคนเมื่ออายุ 50 ปี ด้วยวิธีการวินิจฉัยทางรังสี (upper GI series: UGIS) ทุกปีหรือด้วยวิธี
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (upper endoscopy: EGD) ทุกสองปีหากไม่พบความผิดปกติใด ในขณะที่ในประเทศเกาหลีใต้ ให้ประชากรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 40 ปีด้วยวิธีการส่องกล้องและหากใครมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในช่วงอายุ 60 ปีให้ตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องทุกปี
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมีอะไรบ้าง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมาจากปัจจัยที่สามารถป้องกันได้ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัจจัยที่ป้องกันไม่ได้ เช่น พันธุกรรม ดังนี้
- อายุ อายุมากขึ้นทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น
- จากสถิติ ผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง
- เชื้อชาติเอเชียโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori เมื่อติดเชื้อนี้จะทำให้มีอาการอักเสบและเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
- โรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 (pernicious anemia)
- เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร (prior gastric resection)
- การสูบบุหรี่
- ภาวะน้ำหนักตัวเกิน
- การรับประทานอาหารปิ้งย่าง รสเค็มจัดและเนื้อแดงเป็นต้น
- พันธุกรรม การถ่ายทอดมะเร็งกระเพาะอาหารทางพันธุกรรม (Hereditary diffuse gastric cancer syndrome) เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน CDH1 ทำให้ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากและแพทย์มักแนะนำให้ตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด (total gastrectomy) ถึงแม้ยังไม่พบมะเร็งก็ตาม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ Lynch syndrome, Peutz–Jeghers syndrome และ familial adenomatous polyposis (FAP)
การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใดๆให้เห็นหรือมีอาการไม่รุนแรง และมีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด คลื่นไส้ ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลดลง หรือมีภาวะซีดโลหิตจาง เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจนกระทั่งมะเร็งลุกลามมากขึ้นหรือลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆแล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงช่วยให้ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ทำให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายขาดได้ โดยทั่วไปภาวะการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารก่อนเกิดมะเร็งมีอยู่ 4 ภาวะด้วยกัน คือ chronic gastritis, gastric atrophy, intestinal metaplasia และ dysplasia ซึ่งภาวะเหล่านี้พบได้จากการตรวจคัดกรอง ทำให้แพทย์สามารถติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดหรือรักษาด้วยวิธีการส่องกล้องและตัดบริเวณรอยโรคออกผ่านการส่องกล้องได้ทันท่วงที
การตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพสามารถทำได้ 2 วิธีหลักด้วยกัน คือ
- การวินิจฉัยทางรังสี (double-contrast barium หรือ upper GI series) โดยให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่ผสม barium ซึ่งเป็นสารทึบรังสี ซึ่งจะเข้าไปเคลือบผิวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นจึงจะเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติ วิธีนี้มักไม่ค่อยพบมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะแรกเริ่มหรือตรวจพบได้เพียงแค่ 32% เท่านั้น
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (upper endoscopy: EGD) ข้อดีคือสามารถตรวจพบความผิดปกติของพื้นผิวกระเพาะได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่กระเพาะจะเป็นแผลหรือมีก้อนมะเร็ง มีความแม่นยำถึง 68% หรือเป็นสองเท่าของการวินิจฉัยทางรังสี
ควรตรวจบ่อยครั้งแค่ไหน
สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ขึ้นไปแนะนำว่าควรเริ่มตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (upper endoscopy: EGD) ทุกๆ สามปีหากไม่พบความผิดปกติใดๆ
ทำไมจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารกับบำรุงราษฎร์
การตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารต้องอาศัยประสบการณ์และความละเอียดของผู้ชำนาญการด้านโรคทางเดินอาหารโดยเฉพาะเพื่อตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เพียบพร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เครื่องมือและเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย ขั้นตอนการคัดกรองที่ละเอียด เช่น การส่องกล้องด้วยเทคนิคเพิ่มเติมที่เรียกว่า image enhanced endoscopy (IEE) พร้อมประสบการณ์ของแพทย์ทำให้บอกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวกระเพาะอาหารซึ่งเป็นระยะเริ่มแรกของมะเร็ง และสามารถให้การรักษาด้วยการส่องกล้องผ่านทางปากที่เรียกว่า endoscopic submucosal dissection (ESD) และ full thickness resection (FTR) ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญพิเศษที่ได้รับการฝึกฝนจากต่างประเทศเท่านั้น และแพทย์ผู้ทำการรักษาต้องมีความชำนาญในเทคนิคนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี
นอกจากนี้เรายังมีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการอื่นๆ เช่น ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์ผู้ชำนาญการทางพันธุศาสตร์ รังสีแพทย์ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง และพยาธิแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการตรวจและอ่านชิ้นเนื้อทางเดินอาหารโดยเฉพาะ ทีมพยาบาลชำนาญการด้าน ESD/FTR ทีมโภชนากร และนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤษภาคม 2565