“
มะเร็งลำไส้ใหญ่และ
ทวารหนัก” เป็นมะเร็งในทางเดินอาหารส่วนปลาย ในระยะแรกๆ เซลล์อาจเป็นเพียงแค่ติ่งเนื้อธรรมดา แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เนื้องอกนี้อาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ แต่การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ว่านี้มักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหากเราดักจับได้ตั้งแต่ในระยะต้นๆ การรักษาก็จะง่ายมาก การคัดกรองโรคเป็นประจำจึงเป็นหัวใจสำคัญของการรักษามะเร็งชนิดนี้
ที่น่าตกใจก็คือยิ่งนับวันผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ยิ่งมีแนวโน้มที่จะอายุน้อยลงเรื่อย ๆ โดยจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งทั้งที่ยังอายุไม่ถึง 50 ปีนั้นเพิ่มมากขึ้นถึงสองเท่าในรอบสามสิบปีที่ผ่านมานั่นเพราะไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไป การมีชีวิตที่เร่งรีบขึ้น มีความเครียดสะสม สูบบุหรี่ คนส่วนใหญ่บริโภคเนื้อสัตว์และไขมันเกินความจำเป็น รวมถึงการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เต็มไปด้วยมลภาวะเป็นพิษ สัมผัสสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่เป็นประจำ ทุกอย่างล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้ให้เกิดโรคมะเร็งทั้งสิ้น
ด้วยความที่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะใส่ใจสุขภาพน้อยกว่าผู้สูงอายุ จึงมักละเลยสัญญาณอันตรายหลายๆ อย่าง ดังเช่นในกรณีของผู้ป่วยชายรายหนึ่งซึ่งพบว่าตนเองถ่ายออกมามีเลือดปน แต่ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดอะไรในวัยสามสิบต้นๆ จึงปล่อยเอาไว้ ไม่ได้ทำการตรวจ จนเมื่อย่างเข้าวัยสี่สิบปี อาการของโรคมีมากขึ้นจึงเข้ารับการรักษา มะเร็งก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายเสียแล้ว
เพราะเหตุนี้
“การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ปัจจุบันมีคำแนะนำว่าควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักครั้งแรกตั้งแต่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งมีวิธีตรวจให้เลือกหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเลือดในอุจจาระ การส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนปลาย หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ซึ่งสามารถตรวจพร้อมกับกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นในคราวเดียวได้เพื่อความสะดวก จากนั้นจึงเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นระยะๆ ตามแต่แพทย์จะแนะนำ แต่หากพบความผิดปกติ แพทย์ก็จะสั่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่แม่นยำต่อไป
และหากคุณเป็นกังวลเรื่องโรคโควิด-19 และไม่อยากมารับการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพราะต้องการจะเว้นระยะห่างทางสังคมก็เบาใจได้เช่นกัน
เนื่องจากทางโรงพยาบาลมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มที่ ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ก่อนทำหัตถการ ซึ่งรวมถึงการส่องกล้องตรวจลำไส้ด้วย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มใดๆ และเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ได้รับการตรวจคัดกรองโรครวมถึงสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างครบถ้วน อันที่จริงแล้วการแพทย์เชิงป้องกันอาจยิ่งมีความสำคัญกว่าเดิมด้วยซ้ำในสถานการณ์เช่นนี้ เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งอาจทำให้ภูมิคุ้มกันของคุณอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย การยึดหลัก “กันไว้ดีกว่าแก้” จึงย่อมดีกว่าเสมอ
สำหรับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แล้ว นอกจากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่คอยดูแลผู้ป่วยอย่างใส่ใจแล้ว เรายังตระหนักถึงความสำคัญของ “การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน” อย่างลึกซึ้ง จึงมีการก่อตั้ง “ศูนย์พันธุศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพครอบครัว” ขึ้น เพื่อดูแลผู้ที่มีประวัติภายในครอบครัวว่าเคยมีผู้ป่วยเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และอยากจะตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันไว้ก่อน
การตรวจพันธุกรรมนี้เป็น
การวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของยีน 61 ยีน ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่างๆ ตั้งแต่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ไปจนถึง
มะเร็งเต้านมและ
ต่อมลูกหมาก ด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างที่แสนจะง่ายดายเพียงใช้สำลีพันปลายไม้ขูดจากกระพุ้งแก้ม ซึ่งแพทย์จะส่งตัวอย่างที่ได้ไปตรวจยังห้องปฏิบัติการด้านการตรวจยีนโดยเฉพาะ ใช้เวลารอผลประมาณ 1 เดือน ก่อนจะนำข้อมูลมาวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล จึงนับเป็นความก้าวหน้าของการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งที่เป็นความหวังของผู้ป่วยอย่างแท้จริง
นอกจากการตรวจคัดกรองโรคที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีแล้ว การงดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เพิ่มอัตราส่วนของผักผลไม้ ในอาหารที่รับประทานเป็นประจำ ลดปริมาณหรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ ขอเพียงทำอย่างสม่ำเสมอและเป็นประจำ ก็ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่เราจะเลือกวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีให้แก่ตนเอง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤษภาคม 2565