bih.button.backtotop.text

ภาวะมีบุตรยาก ทำอย่างไรดี

ภาวะมีบุตรยาก ทำอย่างไรดี

องค์การอนามัยโลกให้คำจำกัดความของภาวะมีบุตรยากว่าหมายถึง คู่หญิงชายที่มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอหรือสองถึงสามครั้งต่อสัปดาห์โดยไม่ได้คุมกำเนิดและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายในเวลา 1 ปี

 
ภาวะมีบุตรยาก มีกี่ประเภท
ภาวะมีบุตรยากแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
  • ฝ่ายหญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือมีบุตรมาก่อนและพยายามมีบุตรมาหนึ่งปีแต่ยังไม่ตั้งครรภ์
  • ฝ่ายหญิงที่เคยตั้งครรภ์หรือเคยมีบุตรมาแล้วและพยายามมีบุตรมานานกว่าหนึ่งปีแต่ยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
 
เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์
ควรมาพบแพทย์หลังจาก 1 ปีที่พยายามมีบุตร แต่หากฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ควรมาพบแพทย์หลังจากพยายาม 6  เดือน เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้จำนวนฟองไข่และคุณภาพของไข่ลดลง นอกจากนี้อัตราการเกิดความผิดปกติของไข่และความผิดปกติของโครโมโซมของไข่หรือสารพันธุกรรมที่อยู่ในไข่ยังเพิ่มมากขึ้น ทำให้ยิ่งมีลูกยากขึ้น

 
สาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก มีอะไรบ้าง
อายุฝ่ายหญิงที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียวของการมีบุตรยาก แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลให้มีบุตรยาก โดยสามารถแบ่งสาเหตุใหญ่ได้เป็นสาเหตุจากฝ่ายหญิง สาเหตุจากฝ่ายชายหรือจากทั้งสองฝ่ายและไม่ทราบสาเหตุ

สาเหตุจากฝ่ายหญิง เช่น
  • ไข่ตกช้า ไข่ไม่ตกเรื้อรัง
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือ chocolate cyst ส่งผลให้จำนวนและคุณภาพของไข่ลดลง
  • ภาวะรังไข่เสื่อมหรือรังไข่ล้มเหลวก่อนวัย
  • ซีสต์ชนิดอื่นๆในรังไข่
  • เนื้องอกและติ่งเนื้อในโพรงมดลูก
  • เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
  • เคยผ่าตัดรังไข่หรือปากมดลูก
  • เคยได้รับยาเคมีบำบัดมาก่อนในอดีต
  • เคยมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเคยมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ส่งผลให้ท่อนำไข่อุดตันและมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
  • ฮอร์โมนผิดปกติ
  • มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
  • มีปัญหาภูมิคุ้มกันหรือการแข็งตัวของเลือดทำให้ตัวอ่อนฝังตัวไม่ได้ แท้งบ่อย แท้งซ้ำซาก

สาเหตุจากฝ่ายชาย เช่น
  • อสุจิไม่สมบูรณ์ เช่น จำนวนของอสุจิน้อย เปอร์เซ็นต์ของอสุจิที่วิ่งเก่งต่ำ รูปร่างหน้าตาผิดปกติหรือมีความผิดปกติของสารพันธุกรรม
  • เคยผ่าตัดไส้เลื่อนที่บริเวณขาหนีบ เส้นเลือดขอดที่อัณฑะ เคยได้รับอุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงบริเวณอัณฑะหรืออวัยวะเพศ
  • เคยได้รับยาเคมีบำบัด
  • สูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ
 
รักษาภาวะมีบุตรยากได้อย่างไร
การรักษาภาวะมีบุตรยากทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุ สามารถเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ลดความเครียด กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักผลไม้หลากสี ผักใบเขียวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ผลไม้ที่ไม่หวานจัด ถั่วที่มีโปรตีนที่มีคุณภาพและพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงการกินวิตามินเสริม


ศูนย์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์ที่พร้อมให้การวินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยากอย่างเหมาะสม ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต การรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตรให้กับผู้ที่มีบุตรยาก
 


เรียบเรียงโดย รศ.นพ. ชาติชัย ศรีสมบัติ



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 22 พฤษภาคม 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs