โรคอีสุกอีใส (chickenpox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella) สามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกัน รวมทั้งการหายใจเอาฝอยละอองจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยเข้าไป
อาการของโรคอีสุกอีใส
ผู้ป่วยจะมีอาการตุ่มคันบริเวณผิวหนัง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และมีไข้ ต่อมาตุ่มจะพองใสและกลายเป็นตุ่มหนองซึ่งจะแห้งและตกสะเก็ดในเวลาต่อมา ปกติแล้วในเด็กอาการจะไม่รุนแรง แต่ในทารกแรกเกิด วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาการอาจรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะติดเชื้อที่ผิวหนัง ปอดอักเสบ และสมองอักเสบ
ทำไมจึงควรได้รับวัคซีนอีสุกอีใส
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันโรคได้ อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดเป็นโรคอีสุกอีใสหลังฉีดวัคซีนแล้ว อาการของโรคทั้งไข้และจำนวนตุ่มที่เกิดมักไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน
ใครควรได้รับวัคซีนอีสุกอีใส
- ผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสหรือยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
- ผู้ที่ได้รับวัคซีนอีสุกอีใสเพียง 1 โดสจะต้องได้รับวัคซีนครั้งที่สอง
- ผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสหรือยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนแต่ได้สัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ควรได้รับวัคซีนอีสุกอีใสภายใน 3-5 วัน การได้รับวัคซีนอาจสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือหากติดเชื้ออาการมักไม่รุนแรง
วัคซีนอีสุกอีใสมีวิธีการฉีดอย่างไร
วัคซีนอีสุกอีใสฉีดเข้าใต้ผิวหนัง จำนวน 2 เข็ม โดยมีรายละเอียดดังนี้
อายุผู้รับวัคซีน
|
เข็มที่ 1
|
เข็มที่ 2
|
1-12 ปี
|
เมื่ออายุ 12-15 เดือน
|
อายุ 4-6 ปี
หรือห่างกันอย่างน้อย 3 เดือนจากเข็มแรก
|
อายุ 13 ปีขึ้นไป
|
ฉีดได้ทันที
|
ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์
|
ควรทำอย่างไรหากไม่สามารถมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัด
ควรปรึกษาแพทย์กรณีไม่สามารถมาฉีดวัคซีนนี้ตามกำหนดหรือเลยกำหนดออกไป โดยทั่วไปกรณีเลยกำหนด เข็มที่ 2 สามารถฉีดต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ สิ่งสำคัญคือควรมารับวัคซีนให้ครบตามขนาดที่แนะนำเพื่อประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีน
ผู้ที่ไม่ควรได้รับวัคซีนอีสุกอีใสหรือควรชะลอไว้ก่อน
- ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้วัคซีนอีสุกอีใสมาก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน เจลาติน หรือผู้ที่แพ้ยานีโอมัยซิน
- หญิงตั้งครรภ์ควรรอจนกระทั่งคลอดบุตรก่อน (และหญิงที่ได้รับวัคซีนอีสุกอีใสควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน)
- ผู้ที่มีไข้หรือป่วยอาการปานกลางถึงรุนแรงควรรอให้อาการหายดีก่อนเข้ารับวัคซีน
- ผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับวัคซีนอีสุกอีใส
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ป่วยมะเร็ง
- ผู้ที่ได้รับยาซึ่งมีผลกดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตียรอยด์ เป็นระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์
- ผู้ที่เคยได้รับเลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด มาก่อนในระยะเวลาไม่นาน
- ผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่มซาลิไซเลต (salicylates) เช่น แอสไพริน โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้หลังได้รับวัคซีนเป็นเวลา 6 สัปดาห์
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดจากวัคซีนอีสุกอีใสมีอะไรบ้าง
วัคซีนสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้เหมือนยาทั่วไป อย่างไรก็ตามอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากการได้รับวัคซีนนั้นพบน้อยมาก ผู้ที่ได้รับวัคซีนส่วนมากไม่มีอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วการได้รับวัคซีนถือว่าปลอดภัยกว่า โดยอาการไม่พึงประสงค์มักเกิดเมื่อได้รับเข็มแรกมากกว่าเข็มที่สอง
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบทั่วไปและไม่รุนแรง
|
- บวม แดง คัน หรือเจ็บบริเวณที่ฉีด
- ไข้ต่ำๆ
- ผื่นคันเล็กน้อย
|
อาการไม่พึงประสงค์ปานกลาง-รุนแรง
|
- อาการชักจากไข้สูง (พบน้อยมาก)
- ปอดอักเสบ (พบน้อยมาก)
|
อันตรกิริยาระหว่างวัคซีนอีสุกอีใสกับยาอื่น
ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น cyclosporine, azathioprine, methotrexate มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยกดภูมิคุ้มกันทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนนี้ได้หากได้รับอยู่ขณะได้รับวัคซีน ดังนั้นผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มนี้หรือกลุ่มอื่นๆ อยู่ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนที่จะรับการฉีดวัคซีน
สามารถให้วัคซีนอีสุกอีใสในเวลาเดียวกับการให้วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ถ้าไม่ฉีดพร้อมกันควรฉีดแยกห่างจากกันอย่างน้อย 1 เดือน เพราะอาจเกิดการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้
ข้อมูลอ้างอิง
• Centers for Disease Control and Prevention. Varicella (Chickenpox) Vaccine: What You Need to Know. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/hcp/vis/vis-statements/varicella.html [Accessed 24 December 2021].
• กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2562). ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562. (พิมพ์ครั้งที่ 1). บริษัท เวิร์ค พริ้นติ้ง จำกัด. สืบค้นจาก https://www.dropbox.com/s/39t8lkzfvuk0mvw/DDC_Vaccines-n-ImmuneSystem2562.pdf?dl=0 [เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564].
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 24 มีนาคม 2568