โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน คือ
- โรคคอตีบ (Diphtheria, D) เกิดจากพิษของเชื้อคอตีบที่ทำให้มีการอักเสบในลำคออย่างรุนแรง จนอาจทำให้หายใจไม่ได้ และอาจทำให้หัวใจวายหรือเสียชีวิตได้ เชื้อแพร่มาจากลำคอของผู้ที่เป็นพาหะ
- โรคบาดทะยัก (Tetanus, T) เกิดจากพิษของเชื้อบาดทะยักที่มักเข้าร่างกายทางบาดแผล ทำให้มีอาการชักรุนแรงจนเสียชีวิตได้ เชื้อมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ป่วยได้
- โรคไอกรน (Pertussis, P หรือ acellular Pertussis, aP) เกิดจากเชื้อไอกรน ทำให้มีอาการไอรุนแรงเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ในเด็กเล็กอาจไอจนรับประทานนมหรืออาหารลำบาก อาจทำให้เกิดปอดบวม ชัก และเสียชีวิตได้ เชื้อแพร่มาจากลำคอของผู้ป่วย
- โรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และเมื่อไร
โดยปกติการให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTaP) จะฉีดครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นขาหรือต้นแขน เด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบควรได้รับวัคซีนรวม 5 เข็ม ตามรายละเอียดดังตาราง
ช่วงอายุ (ต่ำกว่า 7 ปี) |
2 เดือน |
4 เดือน |
6 เดือน |
15-18 เดือน |
4-6 ปี |
เข็มที่ 1 |
เข็มที่ 2 |
เข็มที่ 3 |
เข็มที่ 4 |
เข็มที่ 5 |
*วัคซีน DTaP สามารถให้ร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นได้ในครั้งเดียวกัน*
ควรทำอย่างไรหากไม่สามารถมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัด
ควรปรึกษาแพทย์กรณีไม่สามารถมาฉีดวัคซีนนี้ตามกำหนดหรือเลยกำหนดออกไป โดยทั่วไปสามารถฉีดต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ สิ่งสำคัญคือควรมารับวัคซีนให้ครบตามขนาดที่แนะนำเพื่อประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีน
ใครไม่ควรได้รับวัคซีน หรือควรชะลอไว้ก่อน
- เด็กที่เคยได้รับ DTaP แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือแพ้ส่วนผสมในวัคซีน
- เด็กที่มีความผิดปกติที่สมองหรือระบบประสาทภายใน 7 วัน หลังจากได้รับ DTaP ไม่ควรได้รับวัคซีนในครั้งถัดไป
- เด็กที่เป็น Guillain-Barré Syndrome (GBS)
- เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ชัก ลมบ้าหมู หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท มีไข้สูง อาการปวด บวมรุนแรงหลังการฉีดวัคซีนที่ประกอบด้วยเชื้อบาดทะยัก คอตีบ หรือไอกรน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
- เด็กที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด อาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีนได้ แต่ในเด็กที่มีอาการเจ็บป่วยในระดับปานกลางหรือรุนแรงให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนอาการหายจึงค่อยรับวัคซีน
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดจากรับวัคซีนป้องกัน คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบทั่วไปและไม่รุนแรง |
- ไข้ (15%-30%)
- บวม แดง หรือเจ็บบริเวณที่ฉีด (8%-50%)
- ร้องโยเย (1%-59%)
- อ่อนเพลีย (25%-51%)
- อาเจียน (4%-7%)
|
อาการไม่พึงประสงค์ปานกลาง-รุนแรง (หากสังเกตพบให้รีบปรึกษาแพทย์) |
- ชักกระตุก ไข้สูงมากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส ร้องไห้ติดต่อกันนานมากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป (พบได้น้อย)
- ชัก ไม่รู้สึกตัว (พบได้น้อยมาก)
- อาการแพ้วัคซีนที่รุนแรง เช่น หายใจลำบาก เสียงแหบ มีเสียงวี้ดเวลาหายใจ หอบ ตัวซีด อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หรือหัวใจเต้นแรง (พบได้น้อยมาก)
|
การดูแลรักษาอาการไม่พึงประสงค์ที่พบทั่วไปและไม่รุนแรง
- หากมีไข้: รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม
- หากปวด บวม บริเวณที่ฉีดยา: ประคบด้วยผ้าเย็น
อันตรกิริยาระหว่างยา (ผลต่อยาอื่น)
ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์, ยาเคมีบำบัด, cyclosporine, tacrolimus อาจมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรค ดังนั้นผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มนี้หรือกลุ่มอื่นๆ อยู่ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนที่จะรับการฉีดวัคซีน
เอกสารอ้างอิง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 07 มีนาคม 2568