รู้จักกับโรค “คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน”
คอตีบ (D-Diphtheria) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
Corynebacterium diphtheriae สร้างสารพิษที่ทำให้เกิดแผ่นเนื้อเยื่อหนาตัวขึ้นในลำคอ เป็นเหตุให้เกิดการตีบตันของระบบทางเดินหายใจ กล้ามเนื้ออัมพาต หัวใจล้มเหลว และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ถึงแม้จะได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 10 คน อาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อนี้ได้
บาดทะยัก (T-Tetanus) เป็นโรคที่มีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต เกิดจากสารพิษที่สร้างจากเชื้อแบคทีเรีย
Clostridium tetani สารพิษดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดการหดเกร็ง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการ “ขากรรไกรค้าง (Locking of the jaw)” ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถอ้าปาก กลืน หรือแม้กระทั่งหายใจ บาดทะยักสามารถคร่าชีวิตของผู้ติดเชื้อได้ถึง 1 ใน 5 คน
ไอกรน (P-Pertussis หรือ Whooping cough) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย
Bordetella pertussis เชื้อดังกล่าวทำให้เกิดอาการไอที่ควบคุมไม่ได้อย่างรุนแรง มีผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคไอกรนถึง 1 ใน 20 คน ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้น สิ่งที่น่ากังวลคือผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไอกรนอาจแพร่เชื้อไปสู่เด็กทารกซึ่งมีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเกิดอาการรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
เชื้อเหล่านี้สามารถติดต่อได้อย่างไร?
โรคคอตีบและไอกรน สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการไอหรือจาม ส่วนบาดทะยักนั้นไม่ได้มีการแพร่กระจายจากคนสู่คน แต่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือแผลถลอก
เราพบเชื้อเหล่านี้ได้บ่อยแค่ไหน?
แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคบาดทะยักนั้นสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ปัจจุบันนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบาดทะยักเกือบทั้งหมดมักเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามจำนวนเข็มที่กำหนด หรือผู้ที่ละเลยการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น
สำหรับโรคคอตีบ แม้ว่าในปัจจุบันโรคนี้จะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างแพร่หลาย แต่การระบาดยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ
โรคไอกรนยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในเด็กทั่วโลก มีรายงานการแพร่ระบาดของโรคนี้ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่อยู่ทุกปี แม้ว่ากลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวจะมีอาการไอเพียงไม่กี่วัน แต่ในเด็กทารกอาจมีอาการรุนแรง และอาจเกิด “ภาวะหยุดหายใจชั่วขณะ (Apnea)” ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เด็กส่วนมากที่ป่วยเป็นโรคไอกรนมักได้รับเชื้อผ่านทางพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือผู้ดูแล ที่อาจป่วยเป็นโรคไอกรนโดยไม่รู้ตัว
วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน คืออะไร?
วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่ประกอบไปด้วยแอนติเจนของเชื้อไอกรน และ ท็อกซอยด์ของเชื้อคอตีบและบาดทะยัก ในประเทศไทยมีวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน อยู่ด้วยกัน 2 ชนิดหลักๆ ซึ่งมีส่วนประกอบ สูตร และส่วนผสมที่แตกต่างกันสำหรับใช้ในกลุ่มอายุต่างๆ:
- วัคซีน DTaP หรือ DTwP: วัคซีนนี้ใช้สำหรับทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ของชื่อย่อวัคซีนนี้บ่งบอกว่าปริมาณแอนติเจนของเชื้อไอกรน และท็อกซอยด์ของเชื้อคอตีบและบาดทะยัก ในวัคซีนนั้นมีปริมาณสูง
- วัคซีน Tdap: วัคซีนนี้ใช้สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป จนถึงผู้ใหญ่ ตัวอักษรพิมพ์เล็กภาษาอังกฤษ “d” และ “p” บ่งบอกถึงการลดปริมาณท็อกซอยด์ของเชื้อคอตีบและแอนติเจนของเชื้อไอกรนในวัคซีน เพื่อลดอาการข้างเคียงของวัคซีนที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับตัวอักษร “a” ในวัคซีน DTaP และ Tdap หมายถึง “ไร้เซลล์ (Acellular)” คือ การนำเฉพาะบางส่วนของเชื้อไอกรนมาผลิตวัคซีน แทนการใช้เชื้อทั้งไอกรนทั้งเซลล์ (Whole cell) ซึ่งช่วยลดการเกิดอาการข้างเคียงได้
นอกจากนี้ยังมีวัคซีน Td ซึ่งสามารถให้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป จนถึงผู้ใหญ่ วัคซีนนี้ป้องกันเฉพาะโรคคอตีบ และบาดทะยักเท่านั้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน
ใครควรฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน?
ในประเทศไทย วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ถือเป็นวัคซีนจำเป็นที่ต้องให้กับเด็กทุกคน โดย 4 เข็มแรกแพทย์จะพิจารณาให้เป็นวัคซีน DTaP หรือ DTwP กับทารกและเด็กเล็กที่มีอายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน จากนั้นในช่วงอายุ 4-6 ปี แพทย์จะพิจารณาให้วัคซีน DTaP, DTwP หรือ Tdap 1 เข็ม สุดท้ายคือในช่วงอายุ 11-12 ปี แพทย์จะพิจารณาให้วัคซีน Tdap หรือ Td 1 เข็ม
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนนี้ไม่ได้ยาวนานตลอดชีวิต มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน นั้นลดลงทุกปีหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 5 ดังนั้น เราทุกคนจึงควรฉีดวัคซีน Tdap หรือ Td เป็นเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ยังสูงอยู่เสมอ
คำแนะนำในการรับวัคซีน Tdap เป็นเข็มกระตุ้น ได้แก่
- ผู้ที่มีอายุ 11-18 ปี: ควรได้รับวัคซีน Tdap 1 เข็ม โดยแนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 11-12 ปี
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป: ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน มาก่อน หรือผู้ที่มีโอกาสใกล้ชิดกับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 12 เดือน ควรได้รับวัคซีน Tdap 1 เข็ม
- หญิงตั้งครรภ์: หญิงตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับวัคซีน Tdap 1 เข็ม ในช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ แต่หากมีความจำเป็น หญิงตั้งครรภ์สามารถรับวัคซีนนี้ได้ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ซึ่งการฉีดวัคซีน Tdap ให้มารดา จะช่วยให้เกิดการส่งผ่านภูมิคุ้มกันไปสู่ทารกก่อนคลอดได้
หลังจากได้รับวัคซีน Tdap 1 เข็ม เป็นเข็มกระตุ้นแล้ว เราทุกคนควรได้รับวัคซีน Tdap หรือ Td 1 เข็ม ทุกๆ 10 ปี หรือ 5 ปี ในกรณีที่บาดแผลนั้นมีความรุนแรง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก โดยวัคซีน Tdap นั้นสามารถฉีดได้ในทุกช่วงเวลาของปี อีกทั้งยังฉีดพร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นได้ด้วย
มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงอะไรบ้างหลังจากฉีดวัคซีน?
อาการข้างเคียงของวัคซีน Tdap นั้นไม่รุนแรง และมักมีอาการเพียงไม่กี่วัน โดยอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวด แดง หรือบวมบริเวณแขนข้างที่ฉีด มีไข้เล็กน้อย ปวดศีรษะ และเหนื่อยล้า อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ หรืออาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่นเดียวกับยาหรือวัคซีนชนิดอื่นๆ
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
References
- Centers for Disease Control and Prevention. Diphtheria, Tetanus, and Pertussis Vaccine Recommendations [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 9]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/dtap-tdap-td/hcp/recommendations.html
- Centers for Disease Control and Prevention. Diphtheria, Tetanus, and Whooping Cough Vaccination: What Everyone Should Know [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 9]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/dtap-tdap-td/public/index.html
- Centers for Disease Control and Prevention. Pertussis (Whooping Cough) [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 9]. Available from: https://www.cdc.gov/pertussis/about/signs-symptoms.html
- Centers for Disease Control and Prevention. Tdap (Tetanus, Diphtheria, Pertussis) VIS [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 9]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/hcp/vis/vis-statements/tdap.html
- Centers for Disease Control and Prevention. Tdap/Td vaccines [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 9]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/hcp/adults/downloads/fs-tdap-hcp.pdf
- HARVARD HEALTH BLOG. Protection from the TdaP vaccine doesn't last very long [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 9]. Available from: https://www.health.harvard.edu/blog/protection-from-the-tdap-vaccine-doesnt-last-very-long-201602099202
- Kelli Miller. Tetanus, Diphtheria, Pertussis Vaccine for Adults [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 9]. Available from: https://www.webmd.com/vaccines/tdap-vaccine-for-adults
- Liang, J., Tiwari, T., Moro, P., Messonnier, N., Reingold, A., Sawyer, M. and Clark, T., 2018. Prevention of Pertussis, Tetanus, and Diphtheria with Vaccines in the United States: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). MMWR. Recommendations and Reports, 67(2), pp.1-44.
- The Children’s Hospital of Philadelphia. A Look at Each Vaccine: Diphtheria, Tetanus and Pertussis Vaccines [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 9]. Available from: https://www.chop.edu/centers-programs/vaccine-education-center/vaccine-details/diphtheria-tetanus-and-pertussis-vaccines
- The Immunization Action Coalition (IAC). Diphtheria, Tetanus, Pertussis. [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 9]. Available from: https://www.immunize.org/askexperts/experts_per.asp.
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: