bih.button.backtotop.text

อย่าเพิ่งใช้หูฟัง!…ถ้ายังไม่ได้อ่านเรื่องนี้

องค์การอนามัยโลกเตือนว่าประชากรวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลกมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง

อย่าเพิ่งใช้หูฟัง!…ถ้ายังไม่ได้อ่านเรื่องนี้ infographic_Story-1.jpg
อย่าเพิ่งใช้หูฟัง!…ถ้ายังไม่ได้อ่านเรื่องนี้ infographic_Story-2.jpg
อย่าเพิ่งใช้หูฟัง!…ถ้ายังไม่ได้อ่านเรื่องนี้ infographic_Story-3-(1).jpg



องค์การอนามัยโลกเตือนว่าประชากรวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลกมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง หรือการฟังเพลงและเปิดทีวีเสียงดัง รวมถึงการใช้หูฟังอย่างไม่เหมาะสม ในช่วงเวลาที่หลายคนต้องเรียนหรือทำงานอยู่กับบ้านเช่นในขณะนี้ ทำให้ต้องใช้หูฟังในการเรียนหรือประชุมออนไลน์ รวมถึงใช้สมอลทอล์กในการพูดคุยโทรศัพท์มากขึ้น หากฟังติดต่อกันนานๆหรือปรับเสียงให้ดังจนเกินไป จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหูเสื่อมก่อนวัยได้
 

ทำไมการฟังเสียงดังจึงทำให้หูเสื่อมได้

คนทั่วไปมีเซลล์ขนประมาณ 16,000 เซลล์อยู่ในหูชั้นในส่วนที่เรียกว่า cochlea เสียงดังทำให้เซลล์และเยื่อหุ้มเซลล์ภายใน cochlea ถูกทำลาย การฟังเสียงดังเป็นระยะเวลานานทำให้เซลล์ขนเหล่านี้ทำงานหนักมากเกินไปและตายไปในที่สุด
 

ระดับเสียงเท่าไรจึงไม่เป็นอันตรายต่อหู

การฟังอย่างปลอดภัยขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่างคือ ความดังของเสียง ระยะเวลาในการฟังและความถี่ในการฟัง ดังนั้นการฟังเสียงไม่ดังมากแต่ฟังเป็นระยะเวลานานมีอันตรายพอๆกับการฟังเสียงดังในระยะเวลาสั้นๆ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า สำหรับผู้ใหญ่ สามารถฟังระดับเสียงไม่เกิน 80 เดซิเบลเอได้ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เดซิเบลเอ คือ หน่วยความดังของเสียง) สำหรับเด็กสามารถระดับเสียงไม่เกิน 75 เดซิเบลได้ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเสียงดังกว่านั้น เวลาที่แนะนำจะลดน้อยลง เช่น ไม่ควรฟังระดับเสียง 100 เดซิเบลเอเกิน 15 นาที
 

ผลกระทบต่อการสูญเสียการได้ยินมีอะไรบ้าง

การสูญเสียการได้ยินในเด็กมีผลต่อพัฒนาการทางด้านภาษาและการสื่อสาร ในคนวัยหนุ่มสาวและวัยผู้ใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาด้านการสื่อสารซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์และสติปัญญา มีหลักฐานพบว่า การสูญเสียการได้ยินอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ปลีกตัวจากผู้อื่น สติปัญญาด้อยลงและมีผลต่อความปลอดภัยทางร่างกาย
 

รู้ได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยงในการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง

คุณมีความเสี่ยงในการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังมากขึ้น หากคุณ
  • อาศัยอยู่ในบ้านหรือชุมชนที่มีเสียงดัง
  • ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง
  • มีอายุมากกว่า 40 ปี
  • มีกรรมพันธุ์หรือประวัติคนในครอบครัวสูญเสียการได้ยิน
  • ได้รับบาดเจ็บที่หู
  • มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิดสูง
  • ใช้ยาบางประเภทที่มีพิษต่อประสาทหู (ototoxic)
  • สัมผัสหรือสูดดมสารเคมีที่มีชื่อว่าโทลูอีน (toluene) ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของทินเนอร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
 

สามารถรักษาได้หรือไม่

ภาวะสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังมักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในตอนแรกผู้ป่วยจะไม่รู้สึกผิดปกติใดๆ จนกว่าเซลล์ขนจะถูกทำลายไป 30 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์จึงจะพบได้ด้วยการตรวจการสูญเสียการได้ยิน ดังนั้นเมื่อคุณสังเกตว่าการได้ยินผิดปกติไป เซลล์ขนเหล่านี้ได้ถูกทำลายอย่างถาวรไปแล้ว ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้
 

ป้องกันได้อย่างไร

ความดังของเสียงวัดด้วยค่าระดับความเข้มของเสียงโดยใช้หน่วยเดซิเบล เสียงที่ดังกว่า 80 เดซิเบลเอเป็นอันตรายต่อสุขภาพหูหากฟังเป็นระยะเวลานาน เช่น เสียงเพลงดังๆ เสียงไซเรน เสียงเครื่องยนต์ เป็นต้น
ถึงแม้จะรักษาภาวะสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังไม่ได้ แต่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
  • ลดระดับความดังของเสียงจากเครื่องเสียงและโทรทัศน์ ปรับระดับเสียงให้อยู่ที่ 60% จากระดับเสียงสูงสุด หากใช้หูฟัง ให้เลือกหูฟังที่มีขนาดพอดีกับหูและสามารถตัดเสียงรบกวนได้ (noise cancelling headphones)
  • ป้องกันหูจากเสียงดังโดยใส่ที่อุดหู (earplugs) เมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังหรือใช้เครื่องจักรที่มีเสียงดัง เช่น เครื่องตัดหญ้าและอยู่ให้ห่างจากลำโพง หากใส่ที่อุดหูอย่างถูกต้อง สามารถช่วยป้องกันเสียงดังจากสภาพแวดล้อมได้ 5-15 เดซิเบลขึ้นอยู่กับชนิดของที่อุดหู
  • จำกัดเวลาในการทำกิจกรรมที่มีเสียงดัง ด้วยการพักจากการฟัง อยู่ให้ห่างจากลำโพงเสียงและจำกัดเวลาการฟังอุปกรณ์เครื่องเสียงให้น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันและปรับระดับเสียงให้เบาลง
  • จำกัดระดับความดังของเสียง เช่น ใช้แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ช่วยจำกัดระดับความดังของเสียง (volume limit) ในระหว่างที่ใช้หูฟังเพื่อให้อยู่ในระดับที่ไม่ดังมากจนเป็นอันตราย
 

เมื่อไรจึงควรเข้ารับการทดสอบการได้ยิน

การทดสอบการได้ยินถือเป็นวิธีการป้องกันอีกอย่างหนึ่ง คุณสามารถให้แพทย์ตรวจสุขภาพหูของคุณได้เมื่อตรวจสุขภาพประจำปี โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการก่อน แพทย์อาจแนะนำให้คุณพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโสต ศอ นาสิกวิทยาหากคุณ
  • มีประวัติเคยสัมผัสหรือยู่ในสถานที่เสียงดัง
  • รู้สึกตัวว่ามีปัญหาทางการได้ยิน เช่น ฟังไม่ชัดเมื่ออยู่ในที่เสียงอึกทึก
  • คนในครอบครัวหรือเพื่อนบอกว่าคุณมีปัญหาทางการได้ยินและการสื่อสารกับพวกเขา
  • มีอาการเสียงผิดปกติในหู
  • ตรวจการได้ยินแล้วพบความผิดปกติ

By Assoc. Prof. Dr. Saowaros Patarapak, Otolaryngologist, Hearing and Balance Clinic, Bumrungrad Hospital.
 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs