ทำไมผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะถึงควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และควรได้รับเมื่อไหร่ ?
ผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำกว่าคนทั่วไปเนื่องจากได้รับยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ จึงมีโอกาสติดเชื้อและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้สูงกว่าคนทั่วไป การได้รับวัคซีนช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงของการติดเชื้อได้อย่างมาก ในขณะที่พบผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างไปจากประชากรทั่วไป และควรได้รับวัคซีนให้
เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยยังคงรับประทานยาตามปกติ ไม่ต้องหยุดยากดภูมิคุ้นกัน ไม่ว่าก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เลย
ยกเว้น หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหรือได้รับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะ และได้รับยากดภูมิคุ้มกันในขนาดสูง ให้เว้นการฉีดวัคซีนไว้อย่างน้อย 1 เดือน และปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อน
ผู้รอการปลูกถ่ายอวัยวะควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือไม่ ?
ควรฉีดอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้รอการปลูกถ่ายอวัยวะโดยปกติจะมีโรคประจำตัวอยู่ที่เพิ่มความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด-19 เช่น
โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคตับแข็ง โรคหัวใจล้มเหลว โรคทางเดินหายใจ และควรฉีดก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายอย่างน้อย 1 เดือน
ถ้ารับการฉีดวัคซีนแล้วยังต้องป้องกันตนเองหรือไม่ ?
จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อดังเดิม เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างทางกายภาพ
และงดการพบปะกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวนั้น มีโอกาสต่ำกว่าคนปกติ อันเป็นผลจากยากดภูมิคุ้มกันหรือความเจ็บป่วย ดังนั้นหลังฉีดวัคซีนจึงยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะดลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
ถ้าเคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือไม่ ?
เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่พบจากการติดเชื้อไม่สูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อครั้งต่อไป และไม่ได้อยู่ยาวนาน ผู้ป่วยทุกรายอาจจำเป็นต้องได้รับวัคซีนทุกปีเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่
ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะหรือรอการปลูกถ่ายสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวไหนได้บ้าง ?
"ฉีดได้ทุกแบรนด์" ไม่ว่าจะเป็น Sinovac, AstraZeneca, Pfizer, Johnson & Johnson, Moderna, Covaxin, Sinopharm, Novavax หรือ Sputnik V
สุดท้าย ครอบครัวและญาติของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย เพื่อลดโอกาสของการนำเชื้อโควิด-19 มาติดให้แก่ผู้ป่วย
ที่มา: สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย 14 พฤษภาคม 2564
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 01 มิถุนายน 2565