bih.button.backtotop.text

โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ (cardiac amyloidosis) โรคที่มักถูกมองข้าม

โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ (cardiac amyloidosis) โรคที่มักถูกมองข้าม

โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจหรือเรียกกันว่าภาวะหัวใจแข็ง (stiff heart syndrome) เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่ปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกา 1 ใน 4 หรือ 10-25% ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 ปีอาจมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้
 

โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจมีสาเหตุจากอะไร

เกิดจากการที่ร่างกายสร้างโปรตีนอะไมลอยด์ที่มีโครงสร้างผิดปกติทำให้โปรตีนเหล่านี้ไม่ละลายน้ำ ส่งผลให้เกิดการสะสมตามเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ รวมถึงหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ
 

โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจมีกี่ประเภท

โรคอะไมลอยด์โดสิสที่เกี่ยวข้องกับหัวใจมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน
  • AL amyloidosis เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิด plasma cell ในไขกระดูกมีการสร้างโปรตีนที่ช่วยปกป้องร่างกายเรียกว่า immunoglobulin light chain มากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลกระทบต่ออวัยวะทั่วร่างกาย เช่น ตับ ไต หัวใจ ลำไส้และเส้นประสาท
  • ATTR amyloidosis เกิดจากโปรตีน transthyretin หรือ TTR ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างผิดปกติ ทำให้เกิดการสะสมของโปรตีนตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะตามเส้นประสาทและหัวใจ แบ่งย่อยได้เป็น 2 ชนิดคือ
    • ชนิดที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม (hereditary amyloidosis)
    • ชนิดที่เกิดในผู้สูงอายุโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่พบความผิดปกติทางพันธุกรรม (wild-type หรือ senile amyloidosis

อาการของโรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจมีอย่างไรบ้าง

โรคอะไมลอยด์โดสิสที่หัวใจพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักมีอาการหลังอายุ 60 ปี อาการที่พบบ่อยมีดังนี้
  • เหนื่อย
  • อ่อนเพลีย
  • ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาการหน้ามืด คล้ายจะเป็นลมขณะเปลี่ยนท่าทาง
  • อาการบวม น้ำคั่งอยู่ในร่างกายตามส่วนต่างๆ เช่น ท้อง ขา ข้อเท้า
  • หายใจลำบากเมื่ออยู่ในท่านอน
  • หากรุนแรงมากจะมีอาการน้ำท่วมปอด
  • อาจมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น อาการชาปลายมือ ปลายเท้า โดยเฉพาะ ATTR amyloidosis
 

วินิจฉัยโรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจได้อย่างไร

โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจเป็นโรคที่วินิจฉัยยากเนื่องจากมีอาการและอาการแสดงที่ไม่จำเพาะและเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ในร่างกายหลายระบบ แพทย์จะทำการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย หากพบความผิดปกติทางระบบหัวใจ เช่น ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดการบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายล่างผิดปกติ (heart failure with preserved ejection fraction) โดยไม่มีประวัติโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน มีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตั้งแต่ 12 มิลลิเมตรขึ้นไป โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการดังนี้
  • เอกซเรย์ปอด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • ตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
  • ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • ตรวจเลือด ดูภาวะซีด หรือวัดระดับ immunoglobulin light chain และ serum immunofixation electrophoresis (IFE)
  • ตรวจปัสสาวะดูโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และ urine immunofixation electrophoresis (IFE)
  • ตรวจทางรังสีวิทยา 99mTechnitium pyrophosphate (PYP) scan หรือ bone scan เพื่อแยกชนิดของ cardiac amyloidosis
หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไมลอยด์โดสิสชนิด ATTR  แพทย์ผู้ชำนาญด้านพันธุศาสตร์จะทำการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน TTR (TTR mutation) เพื่อแยกว่าโรคเกิดจากพันธุกรรมหรือเกิดจากวัย เพื่อเป็นข้อมูลในการพยากรณ์โรคและการดูแลตัวเองของผู้ป่วยต่อไป

amyloidosis3.jpg

การตรวจ Technitium pyrophosphate ที่ให้ผลบวกในผู้ป่วย TTR amyloidosis
 
amyloidosis1.jpg amyloidosis2.jpg

ผลตรวจกล้ามเนื้อหัวใจทางพยาธิวิทยาแสดงการย้อมติดสี Congo red ซึ่งให้ลักษณะเรืองแสงแบบ apple green birefringent หลังดูด้วย polarized microscopy


 

รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

การรักษาขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไมลอยด์โดสิสชนิดใด ในปัจจุบันโรคอะไมลอยด์โดสิสชนิด ATTR มียาชื่อ Tafamidis ที่ช่วยชะลอเรื่องการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์ที่หัวใจ ช่วยลดอาการเหนื่อย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้รับการรักษา สำหรับโรคอะไมลอยด์โดสิสชนิด AL สามารถรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด การปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อแก้สาเหตุที่มาจากโรคเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจต้องใส่เครื่องกระตุกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ (implantable cardioverter defibrillator: ICD) หรือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (pacemaker implantation) ร่วมด้วย

ในอดีตโรคอะไมลอยด์โดสิสเป็นโรคที่เชื่อกันว่ามีความรุนแรงรักษาไม่ได้และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้มีวิธีการรักษาที่ช่วยประคับประคองอาการและทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะมีชีวิตยืนยาวขึ้นกว่าแต่ก่อน การตรวจพบเจอโรคแต่เนิ่น ๆเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการช่วยชะลอการดำเนินโรค
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางสาขาต่างๆและสหสาขาวิชาชีพทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคที่พบยากและซับซ้อนเช่นโรคอะไมลอยด์โดสิสได้อย่างเหมาะสมกับอาการโรคของผู้ป่วย


เรียบเรียงโดย  รศ.นพ. ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ อายุรศาตร์แพทย์โรคหัวใจม ชำนาณการเฉพาะทางด้านภาสะหัวใจล้มเหลว


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 05 กันยายน 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs