ในสถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มจะดีขึ้น หลายพื้นที่น้ำลดลงแล้ว ผู้ประสบภัยหลายรายเริ่มจะกลับบ้านได้ แต่บ้านที่โดนน้ำท่วม เมื่อน้ำลด ย่อมทิ้งปัญหาเอาไว้ให้เจ้าของบ้านต้องแก้ไข โดยเฉพาะการทำความสะอาดบ้าน
ก้าวแรกที่กลับบ้าน
หากคุณปิดบ้านและอพยพไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลาหลายวัน เมื่อกลับถึงบ้านเพื่อสำรวจความเสียหายและทำความสะอาดบ้าน คุณควรปฏิบัติตัวดังนี้
- อย่าจับสายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเปิดไฟ หากไม่มั่นใจว่าปลอดภัย อาจให้ช่างไฟฟ้าเข้ามาตรวจสอบระบบไฟในบ้านก่อน
- ควรเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อระบายอากาศอย่างน้อย 30 นาทีก่อนเข้าไปในตัวบ้าน
- ไม่ควรให้เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และสัตว์เลี้ยงเข้าไปอยู่ในบริเวณบ้านก่อนจะทำความสะอาดเสร็จ
นอกจากนี้ ก่อนจะเริ่มลงมือทำความสะอาด คุณควรเตรียมตัวเองให้พร้อมด้วยการแต่งกายให้มิดชิด สวมหน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากอนามัยที่มีชั้นกรอง ถุงมือ รองเท้าบูท และแว่นตาป้องกัน
ขั้นตอนในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคด้วยผลิตภัณฑ์ฟอกขาว
ผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่มีใช้กันอยู่ตามบ้านเป็นหนึ่งทางเลือกที่สามารถนำมาใช้ทำความสะอาดบ้านและสิ่งของเพื่อฆ่าเชื้อโรคได้ โดยทั่วไปแล้วจะใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม และมีส่วนประกอบของ sodium hypochlorite 5-6% ซึ่งจะต้องทำการเจือจางกับน้ำ โดยปริมาณขึ้นกับลักษณะของพื้นที่และสิ่งของที่ต้องการทำความสะอาด และเนื่องจากสารละลายเสื่อมสภาพได้เร็ว จึงต้องผสมใหม่ก่อนใช้งานเท่านั้น
อาหารกระป๋องและพื้นผิวที่สัมผัสอาหาร
- พื้นผิวของอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ที่สัมผัสกับอาหารที่โดนน้ำท่วม เช่น บนโต๊ะที่ทำอาหาร จาน (สำหรับเขียงไม้ จุกขวดนม และจุกนมปลอม ควรทิ้งไป)
- การเจือจางสารละลาย: ผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ช้อนชา (5 มล.) ต่อน้ำสะอาด 1 แกลลอน (3.8 ลิตร)
- ขั้นตอนการทำความสะอาด
-
-
- ทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำอุ่นที่สะอาด
- ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ฆ่าเชื้อโรคโดยการทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่เจือจางกับน้ำแล้ว
- ใช้พัดลมเป่าให้แห้ง
- อาหารกระป๋องที่ยังไม่ถูกเปิด ยังไม่บุบ หรือไม่มีร่องรอยเสียหาย
- การเจือจางสารละลาย: ผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ถ้วย (240 มล.) ต่อน้ำสะอาด 5 แกลลอน (19 ลิตร)
- ขั้นตอนการทำความสะอาด
- แกะฉลากที่กระป๋องออก
- ล้างกระป๋องด้วยสบู่และน้ำอุ่นที่สะอาด
- จุ่มกระป๋องในผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่เจือจางกับน้ำแล้ว
- ใช้พัดลมเป่าให้แห้ง
- เขียนฉลากใหม่ด้วยปากกากันน้ำ
พื้นผิวต่างๆ ในบ้านและสิ่งของอื่นๆ
- พื้นผิวที่ไม่ได้แช่น้ำแต่อาจสัมผัสกับน้ำท่วม เช่น พื้นห้อง เตา อ่างล้างจาน ของเล่นเด็ก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร จาน พื้นโต๊ะ และอุปกรณ์อื่นๆ
- การเจือจางสารละลาย: ผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ถ้วย (240 มล.) ต่อน้ำสะอาด 5 แกลลอน (19 ลิตร)
- ขั้นตอนการทำความสะอาด
- ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยสบู่และน้ำอุ่นที่สะอาด
- ล้างด้วยน้ำสะอาด
- ฆ่าเชื้อโรคโดยการทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่เจือจางกับน้ำแล้ว
- ใช้พัดลมเป่าให้แห้ง
พื้นผิวแข็งที่มีเชื้อรา
- พื้นผิวแข็งที่มีการเจริญเติบโตของเชื้อรา เช่น พื้นห้อง เตา อ่างล้างจาน ของเล่นเด็ก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร จาน พื้นโต๊ะ และอุปกรณ์อื่นๆ
- การเจือจางสารละลาย: ผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ถ้วย (240 มล.) ต่อน้ำสะอาด 1 แกลลอน (19 ลิตร)
- ขั้นตอนการทำความสะอาด
- ผสมผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ถ้วย (240 มล.) กับน้ำ 1 แกลลอน
- ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่เจือจางกับน้ำแล้ว
- ถ้าพื้นผิวมีความหยาบ ให้ใช้แปรงแข็งๆ ขัดทำความสะอาด
- ล้างพื้นผิวนั้นด้วยน้ำสะอาด
- ใช้พัดลมเป่าให้แห้ง
ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกขาว
- ห้ามผสมผลิตภัณฑ์ฟอกขาวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่นโดยเด็ดขาด เนื่องจากทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายและเป็นพิษ
- ขณะทำความสะอาดควรเปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท เนื่องจากผลิตภัณฑ์ฟอกขาวอาจทำให้ระคายเคืองเยื่อบุตาและทางเดินหายใจได้
- ผู้ทำความสะอาดจะต้องสวมหน้ากากอนามัย N95 ถุงมือ รองเท้าบูท และแว่นตาป้องกันตลอดเวลา
- อ่านฉลากทุกครั้งก่อนใช้ ห้ามสัมผัสกับผลิตภัณฑ์โดยตรง และเก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็ก
อ้างอิง: http://www.bt.cdc.gov/disasters/bleach.asp
เรียบเรียงโดย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 08 มกราคม 2563