เมื่อน้ำที่ท่วมขังอยู่นานลดลงไป ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เชื้อรา ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับบ้าน แต่ยังอาจส่งผลต่อสุขภาพของคนในบ้าน โดยเฉพาะคนที่เป็นหอบหืด ภูมิแพ้ หรือโรคในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจแพ้และไวต่อการติดเชื้อรา ดังนั้น เพื่อป้องกันและกำจัดปัญหาเชื้อรา ควรรีบทำความสะอาดบ้านภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังน้ำลด
การแก้ไขปัญหาเชื้อราในบ้าน
- เตรียมตัวให้พร้อม
- ไม่ควรให้คนในบ้านที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคในระบบทางเดินหายใจ เด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ กลับเข้าบ้านจนกว่าจะทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย
- แต่งกายให้รัดกุมโดยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงมือยาง รองเท้ายาง เอี๊ยมกันน้ำ หมวกคลุมผม แว่นตา และหน้ากาก
- สำหรับแว่นตาควรเลือกแบบที่แนบสนิทกับใบหน้าและไม่มีรูระบายอากาศ ในบริเวณที่พบเชื้อราควรใช้หน้ากากชนิด N-95 ที่มีขนาดเหมาะสมกับใบหน้า เพื่อป้องกันการสูดดมเอาเชื้อโรคและเชื้อราเข้าไป (สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและเวชภัณฑ์) ทั้งนี้หน้ากากกันฝุ่นและผ้าเช็ดหน้าไม่สามารถกันเชื้อราได้ เนื่องจากสปอร์ของเชื้อรามีขนาดเล็กมาก
- เปิดหน้าต่าง ประตูเพื่อระบายอากาศและความชื้นให้ออกไปจากตัวบ้านอย่างน้อย 30 นาทีก่อนเข้าไปในตัวบ้าน และควรเปิดหน้าต่าง ประตูบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวกระหว่างทำความสะอาดบ้าน
- เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด
- เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด ได้แก่ แปรงขัด น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ อาจซื้อแบบสำเร็จรูป หรือสามารถทำได้เองง่ายๆ
- น้ำยาฆ่าเชื้อราที่สามารถทำได้เอง ได้แก่
-
-
- น้ำส้มสายชู เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อราอย่างอ่อน สามารถฆ่าเชื้อราได้ประมาณ 80% แต่ไม่สามารถฆ่าสปอร์ได้ จะเลือกใช้ชนิดหมักหรือกลั่นก็ได้ ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 7% อาจฉีดพ่นทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที แล้วเช็ดออก
- ผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่มีส่วนผสมของสารประกอบคลอรีน 6% sodium hypochlorite เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อราชนิดเข้มข้น สามารถหาซื้อได้ง่าย โดยต้องนำมาเจือจางกับน้ำก่อนใช้ (ผสมใหม่ทุกครั้งก่อนใช้งานเท่านั้น เนื่องจากสารละลายเสื่อมสภาพได้เร็ว) และมีข้อควรระวังคือ ห้ามผสมสารละลายคลอรีนกับแอมโมเนีย หรือผสมสารละลายคลอรีนกับสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดก๊าซพิษได้หลายชนิด เช่น คลอรามีน ก๊าซคลอรีน ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบทางเดินหายใจ เยื่อบุตา หลอดอาหาร หลอดลมและอาจทำให้เสียชีวิตได้
- สำรวจบ้าน
- สังเกตบริเวณที่น้ำท่วมว่ามีเชื้อราเกิดขึ้นที่บริเวณใดบ้าง โดยเฉพาะในห้องใต้ดิน ห้องครัว และห้องน้ำ รวมถึงเพดาน กำแพง พื้น ขอบหน้าต่าง ท่อน้ำที่มีการรั่วซึม ใต้พรม ใต้-หลังเฟอร์นิเจอร์ หรือใต้วอลเปเปอร์
- การสังเกตเชื้อราอาจใช้การดูด้วยตาเปล่า มักเห็นเป็นเหมือนรอยเปื้อนที่ผนัง หรืออาจเห็นเป็นวงกลมอยู่รวมเป็นกลุ่ม พบได้หลายสีขึ้นกับชนิดของเชื้อรา เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว หรือใช้การดมกลิ่น ซึ่งจะได้กลิ่นเหม็นอับทึบหรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน
- ทิ้งสิ่งของที่พบเชื้อราและไม่สามารถทำความสะอาดได้
- หากมีของใช้และของแต่งบ้านที่เปียกน้ำเกิน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุนและสิ่งของซึ่งยากต่อการทำความสะอาดหรือทำให้แห้ง ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด เช่น พรม ที่นอน เบาะผ้า วอลเปเปอร์ ผลิตภัณฑ์หนัง กระดาษ ไม้ หมอน ตุ๊กตายัดไส้ ควรทิ้งไปโดยใส่ถุงพลาสติกและมัดให้แน่นเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อรา
- สำหรับวอลเปเปอร์และผนังที่ขึ้นราควรลอกออกให้หมด และทำความสะอาดด้วยแปรงแข็งและน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ควรติดวอลเปเปอร์หรือทาสีทับลงไป เพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้
- ทำความสะอาดและกำจัดเชื้อรา
- ทำความสะอาดพื้น ผนัง เพดาน และสิ่งของที่ปนเปื้อนด้วยน้ำและสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ขัดให้คราบสกปรกหลุดออกให้หมด โดยบริเวณที่ต้องทำความสะอาดมากเป็นพิเศษ คือ ครัว ชั้นวางอาหาร และบริเวณที่สำหรับเด็กอยู่อาศัย
- กำจัดเชื้อราที่อยู่ตามพื้นผิวที่แข็ง เช่น พื้นห้อง เตา อ่างล้างจาน ของเล่นเด็ก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร จาน พื้นโต๊ะ และอุปกรณ์อื่นๆ โดยทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ถ้วย (240 มล.) เจือจางกับน้ำสะอาด 1 แกลลอน (3.8 ลิตร) ถ้าพื้นผิวมีความหยาบให้ใช้แปรงแข็งๆ ขัดทำความสะอาด แล้วจึงล้างพื้นผิวนั้นด้วยน้ำสะอาด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัดส่วนการผสมผลิตภัณฑ์ฟอกขาวกับน้ำและขั้นตอนในการทำความสะอาดบ้านและอุปกรณ์เครื่องใช้)
- ถ้าพื้นผิวที่ต้องการทำความสะอาดแห้งและเห็นเป็นราขึ้นฟู ควรเช็ดด้วยกระดาษชำระเนื้อเหนียว พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย หากใช้ผ้าแห้งหรือกระดาษแห้งๆ เช็ดอาจทำให้สปอร์ของราฟุ้งกระจายมากขึ้น วิธีเช็ดควรเช็ดไปในทิศทางเดียว เช่น บนลงล่าง หรือซ้ายไปขวา แล้วทิ้งกระดาษไป ห้ามเช็ดย้อนไปมา เพราะจะทำให้บริเวณที่เช็ดราออกไปแล้วปนเปื้อนราได้อีก จากนั้นเช็ดด้วยน้ำสบู่
- สำหรับเสื้อผ้าหรือสิ่งของที่ทำด้วยผ้าที่ปนเปื้อน เช่น ผ้าม่าน ผ้าห่ม ควรแยกซักออกจากผ้าปกติ เมื่อซักทำความสะอาดแล้วให้นำมาต้มฆ่าเชื้อ และตากแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้
- ระหว่างทำความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อช่วยระบายอากาศ ห้ามเปิดแอร์หรือพัดลมเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา
- ทำให้แห้งและควบคุมความชื้น
- หลังจากทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราแล้ว ให้ใช้พัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ให้แห้งสนิท
- หากมีการรั่วซึมของน้ำภายในบ้าน เช่น หลังคา ผนัง ต้องรีบแก้ไข เพราะความชื้นเป็นสาเหตุสำคัญของการเจริญเติบโตของเชื้อรา
- เฝ้าระวังไม่ให้ภายในบ้านอับชื้น โดยความชื้นที่มักไม่เกิดเชื้อราคือที่ระดับความชื้น 40-60% คอยตรวจสอบบริเวณที่เคยพบเชื้อราและบริเวณที่อับชื้นไม่ให้เกิดเชื้อราขึ้นอีก
ข้อควรระวังในการกำจัดเชื้อรา
- แต่งกายรัดกุม สวมชุดทำความสะอาดที่เตรียมไว้
- เปิดหน้าต่างและประตูบ้านให้มีลมและแดดถ่ายเทได้สะดวก
- แยกซักเสื้อผ้าที่สวมขณะทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนและน้ำยาซักผ้า สำหรับหน้ากากใช้แล้วและขยะที่เกิดจากการทำความสะอาดให้ทิ้งลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิท
- หากคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น คัดจมูก ระคายเคืองนัยน์ตา มีน้ำตาไหล เจ็บคอ ไอ หายใจมีเสียงวี้ด ปวดศีรษะ มีผื่นคันที่ผิวหนังหรือหนังศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์
เรียบเรียงโดย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 05 กุมภาพันธ์ 2564