bih.button.backtotop.text

ดูแลเด็กอย่างไรให้ปลอดโรคและปลอดภัยจากน้ำท่วม

ในช่วงที่หลายจังหวัดในประเทศไทยประสบกับอุทกภัยร้ายแรงเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายคงมีความกังวลใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของลูก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และสอนให้เด็กรับรู้ถึงอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันทั้งโรคและภัยที่มากับน้ำได้ โดยมี 3 ประเด็นใหญ่ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจเพื่อให้ลูกยังคงมีสุขภาพที่ดีในช่วงเวลานี้ ดังนี้
 

ใส่ใจเพื่อป้องกันโรค

  • ระวังโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่มักมากับน้ำท่วม โดยเมื่อเด็กกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ก็อาจเกิดโรคอุจจาระร่วงหรืออหิวาตกโรคได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลให้เด็กล้างมือให้สะอาดทุกครั้งโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ กินอาหารที่ปรุงสุก และดื่มน้ำสะอาด
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก หากลูกยังกินนมแม่อยู่ให้กินนมแม่ต่อไป เพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าลูกกินนมผสม ควรชงนมด้วยน้ำสะอาดที่ต้มสุก และไม่ควรนำน้ำสกปรกมาล้างภาชนะ ถ้วยชาม ขวดนม รวมถึงอุปกรณ์สำหรับชงนมด้วย

หากเด็กมีอาการท้องเสีย ควรให้เด็กดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ORS เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป ถ้าเด็กมีอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วันหรือมีอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกเลือด อาเจียน มีไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์
  • ป้องกันภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดน้ำในเด็กอาจเกิดจากการเสียเหงื่อเนื่องจากความเหนื่อยในการเดินลุยน้ำ หรือโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือทั้งสองอย่าง โดยคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตอาการได้จากเด็กจะซึม ไม่มีแรง หงุดหงิด ร้องกวน หิวน้ำบ่อย ผิวแห้ง ตัวร้อน และปัสสาวะน้อย ซึ่งหากไม่รีบทำการรักษา อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น
คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเฉลี่ยแล้วเด็กควรได้รับน้ำต่อวันตามอายุ ดังนี้
 
1-3 ปี: 960 มล. (4 แก้ว)
4-8 ปี: 1,200 มล. (5 แก้ว)
9-13 ปี:
เด็กผู้ชาย: 1,920 มล. (8 แก้ว)
เด็กผู้หญิง: 1,680 มล. (7 แก้ว)
14-18 ปี:
เด็กผู้ชาย: 2,640 มล. (11 แก้ว)
เด็กผู้หญิง: 1,920 มล. (8 แก้ว)
 
หากเด็กมีอาการขาดน้ำ ให้เด็กดื่มน้ำและสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ORS หรืออาจให้น้ำผลไม้และนมก็ได้ (แต่น้ำเปล่าจะดีที่สุด) ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์
  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ยุงที่มาพร้อมน้ำท่วมขังอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรค เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ในเด็กได้ และเนื่องจากผิวเด็กยังอ่อนบาง จึงมักเกิดตุ่มคันได้ง่าย ดังนั้นจึงควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยให้เด็กนอนในมุ้งหรือทายากันยุง หากโดนยุงกัดแล้ว ให้ล้างทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัด และทายาแก้คันหรือคาลาไมน์เพื่อบรรเทาอาการคัน พยายามอย่าให้เด็กเกา เพราะอาจทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังและทำให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
  • สอนเด็กให้กำจัดของเสียอย่างถูกวิธี เนื่องจากน้ำท่วมอาจทำให้ไม่สามารถใช้ห้องสุขาได้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้เด็กขับถ่ายลงในน้ำ เพราะนอกจากจะทำให้น้ำเน่าเสียแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้ออหิวาตกโรคในชุมชนได้ จึงควรสอนให้เด็กขับถ่ายในส้วมฉุกเฉินและกำจัดให้ถูกวิธี
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจทำส้วมฉุกเฉินโดยใช้สิ่งของ เช่น กล่องกระดาษที่มีขนาดเหมาะสมกับเด็ก และใช้ถุงดำหรือถุงพลาสติกรองรับของเสียจากร่างกาย แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปทิ้งในที่ที่เหมาะสมและพ้นจากมือเด็ก ไม่ควรทิ้งลงในน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ทำความสะอาดแผล และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไม่สบาย หากเด็กมีบาดแผลอันเนื่องจากถูกวัตถุหรือของมีคมตำหรือบาด ควรทำความสะอาดแผลให้สะอาด ใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล และใส่ยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำสกปรกในบริเวณที่เป็นแผล ถ้าเป็นแผลที่เท้าควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งที่ลุยน้ำ
ในกรณีที่เด็กมีอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้ ไอ จาม หรือเป็นหวัด และต้องเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีคนจำนวนมาก ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น
  • นำเด็กไปฉีดวัคซีนตามนัด คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเป็นระยะๆ เช่น วัคซีน DTP สำหรับป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน วัคซีน HBV สำหรับป้องกันโรคตับอักเสบบี เป็นต้น เมื่อน้ำลดควรรีบพาเด็กไปฉีดวัคซีนตามนัด แต่ในกรณีที่ไม่สามารถพาเด็กไปรับวัคซีนตามนัดได้ ควรให้เด็กได้รับวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันมีระดับสูงขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นรับวัคซีนใหม่ ทั้งนี้อาจพาเด็กไปยังสถานพยาบาลเดิมหรือสถานพยาบาลที่สะดวกที่สุดก็ได้ แต่ต้องนำสมุดบันทึกการได้รับวัคซีนไปด้วย  

 

ป้องกันให้ปลอดภัย

  • ระวังไฟดูด ปัญหาเด็กถูกไฟดูดเป็นปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงน้ำท่วม คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้เด็กรู้ถึงอันตรายของไฟฟ้า หากบริเวณบ้านมีปลั๊กไฟที่เด็กเอื้อมถึง ควรใช้ที่ครอบปลั๊กไฟเพื่อป้องกันเด็กใช้นิ้วมือแหย่เข้าไปในปลั๊กไฟ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ควรวางในตำแหน่งที่พ้นมือเด็ก และไม่ปล่อยให้เด็กเล่นอยู่ใกล้บริเวณปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าตามลำพัง อย่างไรก็ดี ในกรณีที่น้ำท่วมเข้าบ้าน ควรตัดไฟทันที และไม่แตะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กอยู่ในขณะตัวเปียกหรือยืนบนพื้นที่เปียก
  • สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งก่อนลุยน้ำ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำหรืออยู่ในบริเวณที่อาจลื่นพลัดตกน้ำได้ หากต้องพาเด็กลุยน้ำหรือโดยสารทางเรือไม่ว่าระดับน้ำจะลึกหรือตื้น ควรสวมเสื้อชูชีพให้เด็กทุกครั้ง โดยต้องเป็นเสื้อชูชีพที่มีขนาดเหมาะสมสำหรับเด็กและควรใช้สายรัดขาเสมอ กรณีที่เกิดเรือพลิกคว่ำ ให้เด็กตีขาและเป่านกหวีดในเสื้อชูชีพเพื่อขอความช่วยเหลือ
     

ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย

  • ทำกิจกรรมคลายความเครียด ในสถานการณ์เช่นนี้ หากคุณพ่อคุณแม่มีความเครียด  ควรจัดการกับความเครียดของตนเองโดยหลีกเลี่ยงหรือลดการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมในแต่ละวัน และหาวิธีผ่อนคลายความเครียดโดยการพูดคุยกับคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือหากิจกรรมอื่นทำ เช่น กิจกรรมจิตอาสา เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ข้อมูลแผนการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมให้กับลูก โดยไม่สร้างความเครียดหรือความตื่นกลัวให้กับเด็กจนเกินไป
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีความเครียด อาจอ่านนิทานให้ลูกฟัง ร้องเพลง หรือออกกำลังกายร่วมกัน รวมถึงอาจสวดมนต์ ทำสมาธิ เพื่อสงบจิตใจได้ด้วย

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อความปลอดภัยของลูกแล้ว ก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจของตัวเองอย่างมีสติ เพราะ “ทุกความพร้อมของพ่อแม่ คือ ความปลอดภัยสูงสุดของลูก”

 
 
เรียบเรียงโดย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 25 สิงหาคม 2563

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs