- โรคแพ้อาหารคืออะไร
ภาวะแพ้อาหารเป็นปฏิกิริยาทางอิมมูนที่ตอบสนองไวผิดปกติต่ออาหารที่รับประทาน โดยอาการอาจเป็นแบบ เฉียบพลัน โดยมักมีอาการหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้นทันที หรือภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ (ได้แก่มีอาการผิวหนัง
แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันโลหิตต่ำ) นอกจากนี้อาการอาจเกิดช้าหลายสัปดาห์หลังจากรับประทานอาหาร ซึ่งอาการที่พบได้แก่ ผื่นแพ้ผิวหนัง (eczema) ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด
- ข้อแตกต่างระหว่าง food allergy และ food intolerance คืออะไร
คำว่า food intolerance นั้นไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาทางอิมมูน แต่เกิดความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม ที่ทำให้ไม่สามารถย่อยอาหารชนิดนั้นได้สมบูรณ์ มักจะมีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง เช่น ภาวะท้องเสียจากขาดเอ็นไซม์ แลคโตส (lactose intolerance) ซึ่งอาการที่พบได้แก่ ถ่ายเป็นน้ำ ท้องอืด มีแก๊สในท้อง
ลำไส้แปรปรวน นอกจากนี้อาจมีอาการจากไม่สามารถย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตซึ่งมีการดูดซึมในลำไส้ได้น้อย และมักอุดมไปด้วยน้ำตาลจากธรรมชาติสูง (Fermentable Oligosaccharides Disaccharides Monosaccharide and Polyols; FODMAPS) โดยคนไข้จะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย หลังทานอาหารในกลุ่มนี้ หรืออาจเกิด
ไมเกรน จากหลังทานอาหารบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์, ช็อกโกแล็ต, ชีส, ผงชูรส, แอสปาแตม, คาเฟอีน, ถั่ว และอาหารที่มีส่วนผสมของไนไตรท์
- อาการของแพ้อาหารที่พบบ่อยคืออะไร
วิธีสังเกตุอาการของโรคแพ้อาหาร แบ่งเป็นสองกรณี
- อาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ ที่หาสาเหตุไม่ได้ เช่น คันตามตัว ผิวหนังอักเสบ ท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง อาเจียนบ่อย ถ่ายเป็นเลือด โดยมักเกิดจากปฏิกิริยาที่ไม่ผ่านอิมมูนชนิด IgE หรือเกิดจากปฎิกิริยาชนิดผสม ที่ผ่าน IgE ได้ ส่วนใหญ่อาการมักเกิขึ้นหลังรับประทานอาหารไปหลายสัปดาห์
- อาการเฉียบพลัน ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษหน้าบวม ตัวบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กลืนลำบาก หากมีอาการรุนแรง หลายระบบหรือที่เราเรียกว่า anaphylaxis ให้รีบไปโรงพยาบาล ซึ่งอาการแบบนี้มักเกิดขึ้นรวดเร็วหลังทานอาหาร และจะเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันชนิด IgE ต่ออาหารชนิดนั้นที่สูง
ควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการทางผิวหนังหรือทางเดินอาหารเป็นๆหายๆ หรืออาการทันทีหลังได้รับอาหาร หรืออาจมีอาการหลายๆระบบโดยที่หาสาเหตุไม่ได้
- อาหารที่ทำให้แพ้ได้บ่อยมีอะไรบ้าง
อาหารที่ทำให้แพ้ได้บ่อยในเด็ก ได้แก่ นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลี ถั่ว เป็นต้น ส่วนอาหารชนิดอื่นอาจทำให้แพ้ได้ และพบมากในผู้ใหญ่ได้แก่ เช่น อาหารทะเล ถั่ว ผลไม้บางชนิด เนื้อสัตว์
- การตรวจเพิ่มเติมที่ช่วยในการวินิจฉัยแพ้อาหาร ต้องอาศัยประวัติร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ซึ่งวิธีที่ใช้บ่อยได้แก่
5.1
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือ skin prick test (SPT)
วิธีนี้อาจให้ทราบคร่าวๆว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นจากอาหารหรือไม่ แต่ว่ามีความไวและความจำเพาะยังต่ำ เหมาะสำหรับใช้คัดกรองเบื้อต้น โดยกรณีที่ทดสอบให้ผลบวก ก็จะแพ้จริงประมาณร้อยละ 50 เพราะคนที่ไม่แพ้อาหารก็อาจให้ผลบวกได้ แต่กรณีที่ให้ผลลบ ก็แสดงว่าไม่เป็นแพ้อาหารถึงร้อยละ 95 แสดงว่าการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เหมาะสำหรับที่จะแยกโรคออกมากกว่า นอกจากนี้การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังคนไข้ควรเตรียมตัวก่อนมาทดสอบ โดยงดยาต้านฮีสามีน (ยาแก้แพ้) ก่อนมาทดสอบอย่างน้อย 5-7 วัน และทราบผลภายใน 15 นาที
5.2 การตรวจเลือดวัดระดับ specific IgE หรือ IgE ที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้น
เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่อาจให้ผลทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเป็นลบได้ หรือกรณีคนไข้สามารถงดยาแพ้ได้ หรือไม่สามารถทดสอบทางผิวหนังได้ ซึ่งให้ผลไม่ค่อยต่างกันกับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เหมาะสำหรับใช้คัดกรองว่าเป็นแพ้อาหารหรือไม่ และติดตามอาการแพ้อาหารว่าดีขึ้นแล้วยัง โดยให้ผลเป็นตัวเลขชัดเจน โดยทั่วไปการตรวจวิธีนี้จะทราบผลภายใน 1-2 สัปดาห์
5.3 การทดสอบโดยวิธี oral food challenge หรือโดยวิธีรับประทานอาหาร
หลักการคือให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆ แล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นทุก 20-30 นาที โดยวิธีนี้ควรทำในโรงพยาบาล อยู่ภายใต้การดูและของแพทย์ภูมิแพ้ และเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้พร้อม เนื่องจากอาจเกิดอาการภูมิแพ้ชนิดรุนแรงได้
คนที่ควรทดสอบโดยวิธีนี้คือ
- คนที่เคยมีประวัติว่าแพ้อาหารมาก่อน และงดอาหารมาสักระยะ และต้องการดูว่าอาการหายแล้ว ซึ่งก่อนทำควรเจาะเลือดหรือทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังก่อนว่าแพ้ลดลงแล้ว
- คนที่สงสัยว่าแพ้อาหาร แต่อาการและผลทดสอบอื่นๆ ให้ผลไม่ชัดเจน
- คนที่ผลทดสอบจากเลือดและผิวหนัง ขึ้นหลายอย่าง แล้วไม่มั่นใจว่าแพ้ตัวไหน
- คนที่จะเข้ารับการรักษาภาวะแพ้อาหารโดยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (oral immunotherapy)
ส่วนการตรวจเลือดวัดระดับ IgG ต่ออาหารนั้นอาจไม่ได้บอกชัดเจนว่าแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่ เพราะในคนปกติที่ไม่แพ้อาหารก็สามารถมีค่าระดับ IgG ในเลือดที่สูงได้ เนื่องจากในคนปกติมีค่า IgG ที่สูงได้อยู่แล้ว ต่างจาก IgE ในเลือดซึ่งมักจะสูงในคนที่เป็นภูมิแพ้ ดังนั้นการแปลผลในเลือดที่วัดระดับ IgG อาจต้องอาศัยประวัติร่วมด้วย และในกรณีที่สงสัยอาหารชนิดนั้น ควรยืนยันด้วยการทดสอบแพ้อาหารโดยวิธีรับประทาน (oral challenge) กรณีที่มีค่า IgG ต่ออาหารที่สูง ไม่แนะนำให้งดอาหารหลายชนิดโดยไม่จำเป็น จนกว่าจะพิสูจน์แน่ชัดว่าแพ้อาหารหรือไม่ เพราะอาจทำให้ขาดสารอาหารได้
เรียบเรียงโดย :
ศ.ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
กุมารแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: