อาการท้องผูกเป็นปัญหาของคนหลายๆคน พบได้ทุกเพศ ทุกวัยโดยเฉพาะคนที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบ ขับถ่ายไม่เป็นเวลา ละเลยเรื่องของอาหารและขาดการออกกำลังกาย แต่บางคนถึงแม้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วแต่ยังคงทุกข์ทรมานกับอาการท้องผูก แล้วถ้าท้องผูกมากๆจะเป็นอันตรายหรือไม่ ศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหารได้ให้คำตอบว่าในที่นี้ว่าเมื่อไหร่ถึงเวลาที่ควรไปพบแพทย์ได้แล้ว
เริ่มจากอาการ..อย่างไรเรียกว่าท้องผูก
อาการท้องผูกของแต่ละคนมีความหมายแตกต่างกัน เช่น ถ่ายลำบาก เบ่งยาก เบ่งไม่ออก ถ่ายไม่สุด อุจจาระแข็ง บางคนคิดว่าการไม่ถ่ายทุกวันหรือถ่ายปริมาณน้อยคือท้องผูก จริงๆแล้วปริมาณเส้นใยอาหารที่รับประทานรวมถึงความแตกต่างหลากหลายในการบีบตัวของลำไส้ในแต่ละคน แต่ละวัยย่อมมีผลต่อปริมาณและความถี่ในการถ่ายอุจจาระ ในทางการแพทย์ ความถี่ในการถ่ายที่นับว่าปกติอาจได้ตั้งแต่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์จนถึง 3 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว ในทางตรงข้าม แม้จำนวนความถี่ของการถ่ายอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เบ่งยาก ถ่ายไม่สุดก็นับว่าเป็นปัญหาท้องผูกเช่นกัน
ทำไมถึงท้องผูก
อาการท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุได้แก่
- โรคทางกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย โรคเบาหวานที่เป็นมานาน โรคพาร์กินสันและโรคที่ทำให้ลำไส้ตีบตัน
- ยาที่ใช้ เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้หวัดคัดจมูก ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ก็อาจทำให้ท้องผูกได้
- การทำงานของลำไส้ผิดปกติหรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายทำงานผิดปกติ
ท้องผูก ทำให้เป็นโรคร้ายแรงอื่นๆได้ไหม
คำถามที่พบบ่อยเลยคือ ท้องผูกอันตรายไหม ทำให้เป็นมะเร็งหรือเปล่า จริงๆแล้วคนที่ท้องผูกไม่ได้เป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าคนปกติ แต่อาการท้องผูกอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเป็นมะเร็งลำไส้ได้ ซึ่งต้องมีร่วมกับอาการอื่น สังเกตได้โดย
- ถ่ายเป็นเลือด
- ซีดหรือโรคโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
- ท้องผูกที่เริ่มเป็นเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ท้องผูกจนมีอาการปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- ใช้ยาระบายแล้วไม่ได้ผล
จะรักษาอาการท้องผูกได้อย่างไร
การถ่ายให้เป็นเวลาโดยถ่ายหลังตื่นนอนตอนเช้าและจัดให้มีเวลาพอโดยไม่ต้องเร่งรีบ เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด อาหารก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ควรเลือกกินอาหารที่มีเส้นใยอาหารในปริมาณที่พอเหมาะควบคู่ไปกับการดื่มน้ำที่เพียงพอ การออกกำลังกายจะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้นได้
การใช้ยาระบายซึ่งมีหลายรูปแบบตั้งแต่ชนิดสวน ชนิดรับประทานและชนิดเหน็บ ไม่ว่าจะเป็นระบายชนิดไหนก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
ผู้ป่วยท้องผูกประมาณหนึ่งในสามมีสาเหตุมาจากการที่ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อหน้าท้องและหูรูดทวารหนักให้ทำงานประสานกันอย่างเหมาะสมในขณะเบ่ง ซึ่งภาวะนี้รักษาได้โดยการฝึกการขับถ่าย (biofeedback therapy) เป็นการสอนให้รู้จักเทคนิคในการเบ่งถ่ายหรือการใช้กล้ามเนื้อต่างๆ ดังกล่าวที่ถูกวิธี โดยใช้เครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงแรงเบ่งและการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักที่ การรักษาได้ผลประมาณ 60-80% และมีจำนวนไม่น้อยที่หายขาดและหยุดยาระบายได้
อาการท้องผูกไม่ใช่เรื่องยากในการรักษาและสามารถรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่หากทำแล้ว ยังมีปัญหาอยู่ ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด จะได้รักษาได้ตรงจุด
ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารที่สามารถวินิจฉัยและรักษาอาการท้องผูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา ศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้า
ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: