bih.button.backtotop.text

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด

ฮอร์โมนไทรอยด์ มีหน้าที่อะไร

ฮอร์โมนไทรอยด์เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ซึ่งมีตำแหน่งอยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ มีบทบาทในการควบคุมเมแทบอลิซึมของร่างกาย และในเด็กมีความสำคัญต่อการเติบโตและการพัฒนาของสมอง

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด คืออะไร

เป็นภาวะที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยกว่าปกติ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เช่น ต่อมไทรอยด์เล็ก ต่อมไทรอยด์อยู่ผิดตำแหน่ง หรือกระบวนการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น ส่วนน้อยเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองซึ่งมาควบคุมการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์

ทารกที่มีภาวะนี้ มีอาการอย่างไร

เมื่อแรกเกิด ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่หากไม่ได้รับการรักษา มักเริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน เช่น นอนมาก ไม่ค่อยร้อง ร้องเสียงแหบ ดูดนมได้ไม่ดี ตัวเหลืองนาน ตรวจร่างกายอาจพบความผิดปกติ เช่น ขม่อมกว้าง ท้องป่อง สะดือจุ่น ลิ้นโต ตัวอ่อนปวกเปียก เมื่อมีภาวะนี้เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้มีการเติบโตน้อยกว่าปกติ พัฒนาการช้าและสติปัญญาบกพร่องได้

จะวินิจฉัยภาวะนี้ได้อย่างไร

ทารกแรกเกิดทุกคนจะได้รับการตรวจคัดกรอง เพื่อให้สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการและเริ่มการรักษาได้รวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีการเติบโตและพัฒนาการปกติ การตรวจคัดกรองทำโดยเจาะเลือดที่ส้นเท้าเมื่อทารกอายุประมาณ 48-72 ชั่วโมง

หากผลการตรวจคัดกรองผิดปกติ แพทย์จะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อให้พาทารกกลับมาตรวจเลือดซ้ำเพื่อยืนยันว่ามีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดหรือไม่

รักษาภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิดอย่างไร

หากตรวจยืนยันแล้วพบว่ามีภาวะนี้ จะรักษาโดยให้กินยาฮอร์โมนไทรอยด์ แพทย์จะนัดติดตามเพื่อตรวจร่างกายและตรวจเลือด และปรับยาเพื่อให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ


เรียบเรียงโดย ผศ.พญ. มนัสวี ก่อวุฒิกุลรังษี 

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs