bih.button.backtotop.text

7 โรคควรรู้เพื่อการป้องกันในช่วงน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำท่วมสามารถส่งผลเสียอย่างรุนแรงแก่สุขภาพของท่าน ทุกช่วงอายุคนสามารถได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่ว่าจะเป็นวัยหนุ่มสาวหรือผู้สูงอายุ ยิ่งน้ำท่วมยาวนานเท่าใด ความเสี่ยงที่จะเกิดความเจ็บป่วยยิ่งสูงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดสารปนเปื้อนในน้ำหรือโรคที่เกิดจากแมลงเป็นพาหะนำโรค


1. โรคติดต่อทางเดินอาหาร

ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง บิด ทัยฟอยด์ อาหารเป็นพิษและตับอักเสบจากไวรัสเอ กลุ่มโรคเหล่านี้ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป
 
การป้องกัน เนื่องจากน้ำที่ท่วมขังอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ จึงควรระมัดระวังอย่าให้เข้าปากและไม่ควรนำมาล้างภาชนะ ถ้วยชาม หรือผักผลไม้ ควรดื่มน้ำที่ต้มแล้ว น้ำฝน หรือน้ำสะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ไม่ขับถ่ายลงในน้ำแต่ควรขับถ่ายลงในภาชนะที่มิดชิด แล้วล้างมือให้สะอาดรวมทั้งก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง หากมีขยะหรือของเสียที่เปียกแฉะควรทิ้งใส่ถุงพลาสติกผูกให้แน่น แล้วทิ้งในที่ที่เหมาะสม หากมีอาการอุจจาระร่วงควรดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) จนอาการเป็นปกติ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น มีไข้ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ควรปรึกษาแพทย์
 

2. โรคตาแดง

เกิดจากน้ำที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่เข้าตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดง ปวดแสบตา น้ำตาไหลมาก 
การป้องกัน เมื่อน้ำสกปรกเข้าตา ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย รวมถึงการใช้สิ่งของที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน เสื้อผ้า หมั่นรักษาความสะอาดมือและร่างกาย หากมีอาการควรรีบปรึกษาแพทย์
 

3. โรคผิวหนัง

ในช่วงภาวะน้ำท่วมขัง โรคผิวหนังที่สำคัญ คือ โรคน้ำกัดเท้าหรือเท้าเปื่อย มักมีสาเหตุมาจากเชื้อรา ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีบริเวณซอกผิวหนังที่อับชื้น อาการระยะแรกจะเกิดผิวหนังอักเสบมีตุ่มใสบริเวณง่ามเท้า มีการระคายเคืองและคันมากจนแตกเป็นแผล ซึ่งจะทำให้มีอาการอักเสบจากการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
 
การป้องกัน หลังจากย่ำน้ำแล้วควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตามง่ามเท้า อาจโรยด้วยแป้งฝุ่น ถ้าเป็นไปได้ควรสวมรองเท้าบูทเพื่อกันน้ำ หากมีอาการเท้าเปื่อยควรทาด้วยขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
 

4. ภัยจากสัตว์มีพิษกัดต่อย

งู และสัตว์มีพิษต่างๆ เช่น แมลงป่อง ตะขาบ อาจหนีน้ำขึ้นมาบนบ้านโดยเฉพาะบริเวณที่มืด
 
การป้องกัน หากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายสิ่งของหรือเดินในที่มืดหรือเวลากลางคืน ควรต้องให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอและระมัดระวังเป็นพิเศษ หากถูกสัตว์เหล่านี้กัดหรือต่อยควรรัดเหนือบริเวณแผลด้วยผ้าหรือสายยางให้แน่นแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที คลายผ้าหรือสายยางที่รัดออกเป็นระยะๆ ทุก 10 นาที เพื่อให้เลือดไหลเวียนบ้าง
 

5. เลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู)

เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของตับและไต ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อน่องมาก ตาแดง ต่อมามีอาการตัวเหลือง และอาจบวมบริเวณหลังเท้าและหนังตา โรคนี้ติดต่อโดยเชื้อโรคที่ผ่านมากับปัสสาวะของหนูที่อยู่ในน้ำแล้วไชเข้าสู่ผิวหนัง
 
การป้องกัน เมื่อจะต้องย่ำน้ำควรสวมรองเท้าบูทยาง กำจัดหนูที่เป็นพาหะนำโรค ถ้ามีอาการของโรคนี้ควรรีบไปพบแพทย์
 

6. โรคติดต่อทางเดินหายใจ

ได้แก่ ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยเข้าไป หรือใช้สิ่งของภาชนะร่วมกับผู้ป่วย ผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลีย ตรากตรำ และอยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อาจมีอาการไอร่วมด้วย
 
การป้องกัน ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงและอบอุ่นอยู่เสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่เปียกชื้นนานเกินไป หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
 

7. ภัยจากอุบัติเหตุ

ที่พบบ่อย คือ
a. ถูกวัตถุหรือของมีคมตำหรือบาด ได้แก่ หนาม ตะปู เศษแก้วหรือกระเบื้อง ทำให้มีบาดแผลและอาจติดเชื้อแทรกซ้อนได้
b. อุบัติเหตุจากการถูกไฟฟ้าดูด เมื่อร่างกายเปียกน้ำหรืออยู่ในที่ชื้นแฉะ กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านร่างกายได้
 
การป้องกัน  
1. ควรระมัดระวังเป็นพิเศษขณะเดินในน้ำ ถ้าเป็นไปได้ควรสวมรองเท้าบูท หากมีบาดแผลควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดเพื่อล้างสิ่งสกปรกในบาดแผลออกให้มากที่สุด แล้วใส่แผลด้วยยาฆ่าเชื้อ
2. หากระดับน้ำท่วมขังถึงสวิตช์หรือปลั๊กไฟฟ้า ควรตัดกระแสไฟฟ้าที่แผงสวิตซ์รวมก่อน และย้ายสวิตซ์ ปลั๊ก และอุปกรณ์ไฟฟ้าให้พ้นจากระดับน้ำ ห้ามต่อสายไฟและจับต้องปลั๊กไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะที่ตัวอยู่ในน้ำหรือขณะที่ตัวเปียก
 
เรียบเรียงโดย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs