โรคกระดูกสันหลังคด เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กหรือวัยรุ่น โดยปกติกระดูกสันหลังจะเป็นแนวเส้นตรง แต่หากกระดูกสันหลังคด แนวกระดูกจะโค้งเป็นรูปตัว “C” หรือตัว “S” โรคกระดูกสันหลังคดมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเรียกว่า Idiopathic scoliosis ผู้ป่วยบางคนอาจมีพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เป้าหมายของการรักษา คือการป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรงและแก้ไขความผิดปกติของหลัง ลำตัวและเอว ซึ่งการรักษาทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ผู้ชำนาญการ
สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังคด
สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามช่วงอายุที่มีอาการเกิดขึ้น
- โรคกระดูกสันหลังคด โดยไม่ทราบสาเหตุในวัยทารก (Infantile idiopathic scoliosis) เด็กที่เกิดอาการโรคกระดูกสันหลังคดก่อนอายุ 3 ขวบ
- โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยเด็ก (Juvenile idiopathic scoliosis (JIS)) เด็กพัฒนาอาการของโรคเมื่อมีอายุระหว่าง 4 – 10 ขวบ
- โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น (Adolescent idiopathic scoliosis (AIS)) ช่วงเด็กกำลังเติบโตเป็นวัยรุ่นหรือมีอายุระหว่าง 10 – 18 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบโรคกระดูกสันหลังคดได้มากที่สุด
นอกจากนี้โรคกระดูกสันหลังคดยังอาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (Congenital scoliosis) โดยอาจเกิดได้จากความบกพร่องในการสร้างของกระดูกสันหลัง
- กระดูกสันหลังคดจากท่าทางที่ผิด (Functional scoliosis) อาจเกิดจากความผิดปกติตรงส่วนอื่นของร่างกาย เช่น การบาดเจ็บ ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อหดเกร็ง การทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายไม่สมดุลซ้ำๆ กันเป็นเวลาหลายปี
- กระดูกสันหลังคดจากโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular scoliosis) พบในเด็กที่มีความผิดปกติของไขสันหลัง สมองและระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทไม่สามารถรักษาสมดุลของลำตัวและกระดูกสันหลังได้ โรคกระดูกสันหลังคดชนิดนี้มักรุนแรงมากขึ้นเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่
- กระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative lumbar scoliosis) เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังจากโรคข้ออักเสบหรือโรคกระดูกพรุน
ความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกสันหลังคด
ความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกสันหลังประเภทที่พบได้บ่อยมีดังต่อไปนี้
- อายุ สัญญาณและอาการของโรคกระดูกสันหลังคดมักเกิดขึ้นในช่วงเด็กกำลังเติบโตก่อนเข้าวัยรุ่น
- เพศ เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคกระดูกสันหลังคดได้เท่าๆ กัน แต่เด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคที่รุนแรงมากกว่า
- ประวัติครอบครัว โรคกระดูกสันหลังคดอาจเกิดจากพันธุกรรมได้ แต่เด็กส่วนใหญ่ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
อาการแทรกซ้อนจากโรคกระดูกสันหลังคด
ถึงแม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก แต่อาจมีอาการแทรกซ้อนจากโรคกระดูกสันหลังคดได้ เช่น
- ปอดและหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่เกิดเฉพาะในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังคดรุนแรง กระดูกสันหลังผิดรูปมาก กระดูกซี่โครงอาจผิดรูปตามไปด้วย ทำให้ปอดและหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- ปัญหาเกี่ยวกับหลัง ผู้ใหญ่ที่มีปัญหากระดูกสันหลังคดตั้งแต่เด็กมีแนวโน้มว่าจะมีอาการปวดหลังเรื้อรังมากกว่าคนปกติทั่วไป
- ปัญหาเกี่ยวกับรูปลักษณ์ เมื่ออาการของโรคแย่ลง สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าไหล่และสะโพกไม่เท่ากัน ซี่โครงยื่นออกมาผิดปกติ เอวและลำตัวเบี้ยว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเอง
เรียบเรียงโดย
นพ. สำเริง เนติ ศูนย์ผ่าตัดกระดูกสันหลังคดด้วยหุ่นยนต์นำวิถี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 25 พฤษภาคม 2566