bih.button.backtotop.text

ชีวิตผู้ป่วยมะเร็งที่ออกแบบได้

21 ตุลาคม 2562
“เราสามารถเตรียมตัวได้แม้จะยังไม่เจ็บป่วย ถือเป็นการออกแบบช่วงชีวิตในอนาคตนั้นได้ ไม่อยากให้ทุกคิดว่าเราควบคุมชีวิตของตัวเราเองไม่ได้ แม้จะเป็นในระยะท้ายๆของชีวิตก็ตาม เราสามารถทำให้มันสวยงามได้” หนึ่งในบทบาทการให้คำปรึกษาที่สำคัญของ พญ.จินดา อุดมปัญญาวิทย์ Senior Coordination Physician and Family Therapist ประจำที่หน่วยประสานงานทางการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


จากพื้นฐานความเชื่อในการเป็นมนุษย์เหมือนกันที่ถูกสร้างโดยพระเจ้าของพญ.จินดานั้น คุณหมออาศัยความจริงใจ ความใส่ใจและการรับฟังคนเพื่อที่จะทำให้เข้าถึงจิตใจผู้อื่นได้ โดยคุณหมอมองว่าเพียงเมื่อเขารับรู้ในความตั้งใจของเรา ทุกๆอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี คุณหมอได้นำหลักการนี้มาใช้ในการทำงานเสมอ ในบทบาทของ Senior Coordination Physician ซึ่งคือแพทย์ผู้ประสานงาน ระหว่างทีมแพทย์ทั้งในและต่างประเทศสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงทีมงานอื่นๆในโรงพยาบาล โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีความสลับซับซ้อนทางการแพทย์ซึ่งบางครั้งยากที่จะตัดสินว่าจะดำเนินการรักษายังไง อีกทั้งเมื่อต้องอยู่ในระบบการรักษาของประเทศไทยที่ผู้ป่วยต่างชาติเองไม่คุ้นเคย

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นชาวต่างชาติ เมื่อทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งแล้ว สภาพจิตใจก็ย่ำแย่ในระดับหนึ่ง พอมารักษากับเราแน่นอนว่าระบบการรักษาในประเทศไทยจะแตกต่างกับในประเทศของเขา ทำให้เขาไม่ค่อยเข้าใจในการรักษา ไม่เข้าใจที่หมออธิบาย ไม่เข้าใจการเตรียมตัว ทีมของเราก็จะช่วยประสานในขั้นตอนต่างๆ ช่วยพูดคุย วางแผนการรักษา และดูแลทุกส่วนในการรักษาทั้งหมด” คุณหมอเล่าถึงหน้าที่หลักที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซันนี้


ผู้ป่วยแต่ละคน ล้วนมีภาระทางใจที่แตกต่างกัน

ด้วยความที่พญ.จินดา ได้ศึกษาทางด้านคู่สมรสและครอบครัวบำบัด (Marriage and Family Therapy) มาด้วยนั้น คุณหมอจึงมีความเข้าใจว่าแต่ละครอบครัว เมื่อประสบปัญหาทางการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเรื้อรัง วิถีการดำเนินชีวิตก็จะเปลี่ยนไปและเกิดผลกระทบทั้งครอบครัว เกิดความกังวลและท้อแท้ทางใจที่สามารถส่งผลทางร่างกายและการรักษาอีกด้วย คุณหมอจึงเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการให้คำปรึกษาทางจิตสังคมทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง คู่รมรส คนในครอบครัว หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้ด้วยดีและตรงตามความต้องการทั้งของผู้ป่วยและแพทย์

คุณหมอเล่าถึงเคสที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงปัญหา โดยการพูดคุย และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ได้ผลที่ดีขึ้นในที่สุดว่า “มีเคสอยู่เคสหนึ่ง เป็นชาวอินเดีย ภรรยาป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งตัวผู้ป่วยเป็นคนที่อารมณ์หวั่นไหวง่าย สามีก็เหมือนหงุดหงิดง่าย ต้องการสิ่งต่างๆด้วยอารมณ์ เมื่อได้เข้าไปสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆในครอบครัวของผู้ป่วย เริ่มทำความสนิท จนผู้ป่วยไว้ใจ และเล่าถึงชีวิตในครอบครัวของผู้ป่วย ทำให้ได้รู้ว่าตัวผู้ป่วยมีความความผูกพันกับสามีมาก เมื่อผู้ป่วยอารมณ์หวั่นไหว สามีจะหงุดหงิดกระวนกระวายใจทันทีและพยายามช่วย พยายามเปลี่ยนสิ่งต่างๆอย่างฉับพลันเพราะคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาและลดความเครียดให้ผู้ป่วย แต่จริงๆแล้วกลับเป็นการสร้างความเครียดให้ผู้ป่วยและทีมดูแลรักษาแทน จุดเปลี่ยนแปลงเกิดในครั้งที่ผู้ป่วยมาด้วยอาการหอบเหนื่อยที่ไม่หายซักที แม้ว่าจะเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนทีมแพทย์ยังไง อาการโดยรวมก็ไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลด้วยความกลัว ในขณะที่สามีต้องกลับบ้านไปดูแลลูกอยู่ที่บ้าน คุณหมอจึงแนะนำให้สามีลองนั่งใกล้ๆผู้ป่วยและจับดูระดับอ๊อกซิเจนในเลือดที่นิ้ว แสดงให้เห็นว่าอาการหอบเหนื่อยเป็นอาการทางจิตใจร่วมด้วย ซึ่งพอสามีเข้ามาดูแลอารมณ์ของผู้ป่วยด้วยการให้กำลังใจอย่างเหมาะสม อาการของผู้ป่วยกลับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้สามีตระหนักได้ว่า สามีของเธอคือยาที่ดีที่สุด และเป็นแรงกระตุ้นให้เธอรักษาตัวได้ดีที่สุดเช่นกัน”


Palliative Care การวางแผนชีวิตที่ออกแบบได้

Palliative Care เมื่อก่อนนั้นจะถูกใช้ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซัน ที่มีเทคโนโลยีในการรักษามะเร็งที่ก้าวล้ำมาก ทั้งเชิง Immunotherapy (การรักษามะเร็งในระดับโมเลกุล ระดับกรรมพันธุ์ ระดับภูมิคุ้มกัน) และการดูแลอาการทางกายของผู้ป่วยอย่างดีเยี่ยม ได้เห็นความสำคัญของการขยายระบบ Palliative Care กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งให้มีการเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ในระยะเนิ่นๆ
 
“ผู้ป่วยสมัยก่อน พอบอกว่าเป็นมะเร็งระยะท้าย ก็จะยกหน้าที่ให้กับหมอ Palliative Care แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เราสร้างทีมที่จะเข้าไปดูแล และเดินเคียงข้างกับผู้ป่วยและครอบครัวพร้อมกับทีมแพทย์ในการรักษา ซึ่งในกรณีที่รู้ว่าเริ่มเป็นมะเร็งอาจมีภาวะเครียดหรือทำใจยาก เราก็จะเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วยและครอบครัว ให้เกิดความใว้วางใจ ซึ่งจะมีผลดีในการดูแลผู้ป่วยเมื่อเข้าสู่ระยะที่เป็นมากหรืออยู่ในระยะท้ายๆ ช่วงระหว่างทางที่จะถึงจุดนั้น เราจะเข้ามาให้คำปรึกษาผู้ป่วยและครอบครัวถึงอนาคต เช่นตัวผู้ป่วยมีเป้าหมายชีวิตอย่างไร ต้องต่อสู้กับโรคที่รุนแรง มีความเครียด ความเจ็บปวด เขาจะมีคุณภาพชีวิตอย่างไร ถ้าเขาเริ่มไม่มีสติ ไม่ไหวแล้ว ชีวิตบั้นปลายเขามีความต้องการที่จะเห็นมันเป็นอย่างไร จะสู้กับโรคถึงจุดไหนแล้วพอ จะใส่ท่อช่วยหายใจหรือปั๊มหัวใจในระยะสุดท้ายไหม ซึ่งแต่ละคนในครอบครัวก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน นอกจากจะช่วยให้การดูแลในระยะสุดท้ายของผู้ป่วยเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆเป็นไปได้ง่ายและตรงตามความต้องการของผู้ป่วยแล้วนั้น ทางครอบครัวก็จะไม่ลำบากใจที่จะตัดสินใจในช่วงนั้นด้วย ข้อดีอีกอย่างคือครอบครัวจะได้สุขใจที่ได้ทำในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ มีความทรงจำที่ดี และไม่ทุกข์กับความรู้สึกผิดหรือความไม่รู้ ที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆกับญาติของผู้ป่วย” พญ.จินดาอธิบาย

“ในตอนนี้เราริเริ่มที่จะมีทีม Compassionate Care ซึ่งเป็นชื่อทีมในระบบ Palliative care ส่วนที่ขยายนี้เข้ามา เป็นขั้นตอนในการดูแลไปพร้อมกับทีมแพทย์ โดยทำความรู้จักกับผู้ป่วยและครอบครัวทั้งหมด มีการประชุมกับญาติผู้ป่วย เปิดใจให้เขาแสดงความคิดเห็น เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก หลายๆครอบครัวมักไม่พูดกัน หรือเป็นความเชื่อของชาตินั้นๆ เช่นความเชื่อของคนจีน ถ้าพูดเรื่องความตายก็จะถือเป็นสิ่งที่ไม่ดีในครอบครัว บางครอบครัวก็อยากจะเก็บเป็นความลับ ไม่อยากให้ผู้ป่วยรู้บ้าง หรือผู้ป่วยบางคนไม่ต้องการให้ติดต่อญาติ” คุณหมอเล่าถึงอุปสรรคที่มักพบเจอ “เมื่อเราประคับประคองจิตใจผู้ป่วยหรือญาติได้ระดับหนึ่ง เราจะประเมินเรื่องการบำบัดจิตใจที่เฉพาะเจาะจงลงไปในแต่ละคน ซึ่งทางทีมคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลจึงได้นำรูปแบบการช่วยที่หลากหลาย เช่น Art Therapy , Music Therapy , Breathing Therapy, Total Relaxation ทั้งหมดนั้นคือการใช้มิติอื่นๆมาช่วยให้เข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัวได้มากขึ้น ทำให้อารมณ์แง่ลบสามารถถูกกำจัดออกไปได้ง่ายขึ้น เกิดความหวังในใจ สามารถหาความหมายดีๆในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้”


การดูแลทุกองค์ประกอบแบบกลมกลืน

จะเห็นได้ว่า Palliative Care นั้นเป็นหนึ่งกลไก ที่ช่วยประสานให้การรักษามะเร็งนั้นราบรื่น รวมทั้งเป็นผู้ช่วยออกแบบที่สำคัญ ในการวางแผนชีวิตให้ผู้ป่วย นอกจากการเอาใจใส่ในมิติจิตสังคมของผู้ป่วย การเข้าถึงระดับจิตวิญญาณ ความเชื่อส่วนบุคคล ชนชาติศาสนาก็สำคัญ ซึ่งทางศูนย์จะมีการเชิญพระ หรือบาทหลวง เข้ามาพูดคุยกับคนไข้และญาติ อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับความหมายของชีวิตผู้ป่วย          
 
สุดท้ายนี้ทางทีมตระหนักว่าการให้เกิดภาพที่สวยงามนี้จะต้องเป็นการร่วมมือของหลายฝ่าย จึงได้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาระบบ และสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่เองได้เข้าถึงภาวะจิตใจของตัวเอง และสามารถปฏิบัติและเข้าใจผู้ป่วยและครอบครัวได้ดีขึ้นด้วย สามารถพูดคุยสื่อสารให้ผู้ป่วยและครอบครัวอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
 
“การพูดถึงความตายล่วงหน้า หลายคนอาจกลัวว่าเหมือนเป็นการสาปแช่ง แต่ด้วยความเข้าใจว่าการวางแผนที่ดี การได้มีเวลาพูดคุยและเตรียมตัว โดยไม่เร่งรีบ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แม้ตอนที่ยังไม่ได้เจ็บป่วยอะไรก็สามารถเตรียมตัวได้ ด้วยความหวังว่าเราสามารถออกแบบชีวิตแม้ในช่วงที่เหมือนมีหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้เช่นในระยะสุดท้ายก็ตาม เราก็ทำให้มันสวยงามไปด้วยกันได้” พญ.จินดากล่าวสรุปไว้พร้อมรอยยิ้ม
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

ชีวิตผู้ป่วยมะเร็งที่ออกแบบได้
คะแนนโหวต 10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 7 คน

Related Health Blogs