ไทรอยด์เป็นพิษ คืออะไร?
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) สามารถเรียกอีกชื่อว่า ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Overactive thyroid) เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายผีเสื้อ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งมี 2 รูปแบบหลัก คือ Triiodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) โดยฮอร์โมนไทรอยด์นั้นมีผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย จึงเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเกือบทุกส่วน ที่สำคัญ เช่น การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การหายใจ การเต้นของหัวใจ น้ำหนักตัว อารมณ์ ฯลฯ หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษแล้วไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อหัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ รอบเดือน และระบบสืบพันธุ์ได้
อาการของไทรอยด์เป็นพิษ มีอะไรบ้าง?
อาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษอาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาการที่พบได้ มีดังต่อไปนี้
- น้ำหนักตัวลด
- ชีพจรเต้นเร็ว จังหวะไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น
- อารมณ์แปรปรวน กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย
- อ่อนเพลีย
- มีอาการสั่น โดยเฉพาะมือ
- ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย
- ถ่ายอุจจาระบ่อย หรือท้องเสีย
- ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอบวม หรือโตขึ้น
- มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี อาจมีอาการแตกต่างกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อย โดยอาจมี
ภาวะซึมเศร้า มี
ภาวะสมองเสื่อม หรือความอยากอาหารลดลง เป็นต้น
ไทรอยด์เป็นพิษ มีสาเหตุมาจากอะไร?
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- Grave's disease: เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด โดยโรคนี้จัดเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป
- ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodules) เป็นสาเหตุที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยพบก้อนเนื้อเจริญบนต่อมไทรอยด์ ซึ่งมักเป็นก้อนเนื้อร้ายที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
- ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) มีผลทำให้ฮอร์โมนที่เก็บอยู่ในต่อมไทรอยด์รั่วออกมาได้
- การได้รับไอโอดีนมากเกินไป ไอโอดีนสามารถพบได้ในยาบางชนิด สาหร่ายทะเล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสาหร่ายทะเล อาหารทะเล เป็นต้น การบริโภคไอโอดีนมากเกินความจำเป็น ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติได้
- ได้รับยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป: สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ที่รับประทานยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป
ไทรอยด์เป็นพิษ วินิจฉัยได้อย่างไร?
แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย สอบถามอาการ และตรวจสอบประวัติการรักษา รวมทั้งวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่างๆ อย่างการตรวจเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid function test) หรือการอัลตร้าซาวด์ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
ไทรอยด์เป็นพิษ รักษาอย่างไร?
การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ทำได้ดังนี้
- การรับประทานยา:
- ยาต้านไทรอยด์ (Antithyroid drugs) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ยา Methimazole, ยา Propylthiouracil
- ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-Blockers) ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ ลดอาการใจสั่น ได้แก่ ยา Propranolol, ยา Atenolol, ยา Metoprolol
- การรักษาด้วยสารรังสี: การกลืนสารไอโอดีนกัมมันตรังสีนั้น จะทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง
- การผ่าตัด: การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือการผ่าตัดออกทั้งหมด จะทำให้ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ แต่อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียงแหบ ได้
ทั้งนี้การรักษาไทรอยด์เป็นพิษขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์และการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: