ปัสสาวะแสบขัด ลำบาก เสี่ยงต่อมลูกหมากอักเสบ
โรคต่อมลูกหมากอักเสบเกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นต่อมขนาดเล็กมีลักษณะเหมือนผลวอลนัท อยู่ในอุ้งเชิงกรานต่อกับกระเพาะปัสสาวะและหุ้มรอบท่อปัสสาวะ โรคต่อมลูกหมากอักเสบพบได้ในผู้ชายทุกวัยแต่พบบ่อยในผู้ชายอายุ 50 หรือมากกว่า
โรคต่อมลูกหมากโตมีกี่ประเภท
โรคต่อมลูกหมากโตแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆคือ
- โรคต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะแล้วเชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมลูกหมาก
- โรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่รุนแรง บางครั้งไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดการอักเสบนานเกินกว่า 3 เดือน
อาการของโรคต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลันกับเรื้อรังแตกต่างกันอย่างไร
- โรคต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน อาการเด่นคือผู้ป่วยมีอาการไข้สูง หนาวสั่น นอกจากนี้ยังมีอาการปวดแสบท่อปัสสาวะเวลาปัสสาวะ รู้สึกเจ็บเวลาหลั่งอสุจิ
- โรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด รู้สึกหน่วงๆบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือตรงฝีเย็บ อาการไม่รุนแรงมากแต่ทำให้รู้สึกรำคาญ รู้สึกเจ็บขณะหลั่งอสุจิ บางคนมีอาการเป็นเดือนหรือเป็นๆหายๆได้
โรคต่อมลูกหมากอักเสบทำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่
โรคต่อมลูกหมากอักเสบไม่ได้ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น แต่การอักเสบทำให้ค่า PSA หรือค่าสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้น ถึงแม้ต่อมลูกหมากอักเสบจะไม่ทำให้เป็นมะเร็งแต่อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน กลายเป็นฝีเป็นหนองในต่อมลูกหมากหรืออาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis)
การตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากอักเสบได้อย่างไร
การตรวจวินิจฉัยทำได้หลายวิธี เช่น
- ซักประวัติและตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (DRE: Digital Rectal Examination) โดยแพทย์จะสอดนิ้วเข้าไปคลำต่อมลูกหมาก หากมีอาการอักเสบ ผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บขณะคลำ
- ตรวจปัสสาวะและเพาะเชื้อจากปัสสาวะ เพื่อยืนยันการอักเสบติดเชื้อ
- การตรวจเพาะเชื้อจากน้ำอสุจิ อาจช่วยวินิจฉัย ภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อได้
รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง
การรักษาขึ้นอยู่กับประเภทและสาเหตุของการเกิดต่อมลูกหมากอักเสบ หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะและยาที่ทำให้กล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากคลายตัวเพื่อให้ปัสสาวะคล่องขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการอักเสบเรื้อรัง รู้สึกปวดอยู่ตลอดเวลา แพทย์จะให้ยาแก้ปวดและยาที่ปรับเปลี่ยนความรู้สึกเจ็บปวดของเส้นประสาทร่วมด้วย ในกรณีที่รักษาไม่หายขาด แพทย์จะหาสาเหตุเพื่อแก้ไขที่ต้นเหตุนั้น
ป้องกันได้อย่างไร
ป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วยการไม่อั้นปัสสาวะเวลาปวด ไม่เบ่งขมิบและไม่เร่งเวลาปัสสาวะ ปล่อยให้ปัสสาวะออกตามธรรมชาติ รวมถึงป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคต่อมลูกหมากอักเสบ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากอักเสบ แพทย์จะต้องดูหลายอย่างประกอบกันขึ้นอยู่กับภาวะโรคของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นการพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคทางเดินปัสสาวะที่มีความชำนาญในการรักษาโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
ทำการนัดหมายแพทย์
นพ.จรัสพงศ์ ดิศรานันท์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 27 ธันวาคม 2565