โรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากที่ผู้ชายทุกคนควรรู้จัก
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย หลายคนเข้าใจผิดว่าต่อมลูกหมากคืออัณฑะ แต่ความจริงแล้วเป็นคนละอวัยวะและทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน ลูกอัณฑะทำหน้าที่สร้างอสุจิ ในขณะที่ต่อมลูกหมากทำหน้าที่หลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างและเก็บน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ ต่อมลูกหมากอยู่ในอุ้งเชิงกรานต่อกับกระเพาะปัสสาวะ โดยต่อมลูกหมากจะหุ้มรอบท่อปัสสาวะ มีรูปร่างลักษณะเหมือนผลวอลนัทหรือลูกข่าง ถึงแม้ต่อมลูกหมากไม่ได้เป็นอวัยวะที่สำคัญต่อชีวิตแต่ก็มีความสำคัญต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย
โรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมลูกหมากอักเสบและโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia: BPH)
โรคต่อมลูกหมากโตเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ชายที่อายุเกิน 50 ปี สาเหตุเกิดจากอายุโดยที่ต่อมลูกหมากของบางคนอาจโตเร็วกว่าบางคน โรคต่อมลูกหมากโตไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและไม่ทำให้เป็นมะเร็ง แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเพราะต่อมลูกหมากที่โตอาจไปกดเบียดท่อปัสสาวะทำให้ท่อปัสสาวะแคบลง เมื่อท่อปัสสาวะแคบลงจะทำให้ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่งหรือไม่สุด ปัสสาวะบ่อยขึ้นโดยเฉพาะตื่นปัสสาวะกลางดึกในช่วงกลางคืน บางคนอาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
โรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis)
โรคต่อมลูกหมากอักเสบเป็นโรคที่พบได้ในผู้ชายทุกวัย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลันและต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง สาเหตุเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือบางครั้งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาการคือ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด รู้สึกหน่วงๆบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือฝีเย็บ ปวดขณะหลั่งน้ำอสุจิ ถ้าเป็นการอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรีย อาจมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer)
โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่มักพบในชายอายุ 50 ปีขึ้นไป สาเหตุในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มีได้ตั้งแต่อายุ กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ มะเร็งต่อมลูกหมากมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรกจนกว่ามะเร็งขยายใหญ่มากขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ ทำให้มีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคต่อมลูกหมากโต เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ปัสสาวะลำบากและปัสสาวะปนเลือดได้ หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ทำให้มีอาการปวดกระดูก กระดูกหักง่าย
การวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากได้หลายวิธี เช่น
- การซักประวัติ
- การตรวจทางทวารหนัก (digital rectal examination หรือ DRE) โดยการสอดนิ้วเข้าไปคลำต่อมลูกหมาก
- การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง PSA (prostatic-specific antigen)
- การตรวจปัสสาวะและเพาะเชื้อจากปัสสาวะ เพื่อยืนยันการอักเสบติดเชื้อ
- การเจาะชิ้นเนื้อออกมาตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับอัลตร้าซาวด์ร่วมกัน (MRI/Ultrasound Fusion Biopsy) ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง
การรักษาโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก
โรคต่อมลูกหมากโตรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการดื่มน้ำ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีน บางรายอาจต้องใช้ยาหรือใช้การผ่าตัด
โรคต่อมลูกหมากอักเสบรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หากเป็นโรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังแพทย์จะพยายามหาสาเหตุเพื่อรักษาที่ต้นเหตุนั้น
โรคมะเร็งต่อมลูกหมากรักษาได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการ ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ดังนั้นการรักษาจึงทำได้ตั้งแต่สังเกตอาการ การเฝ้าระวังเชิงรุก การผ่าตัด
การฉายแสงและการฝังแร่
ถึงแม้โรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากจะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป แต่อาการที่แสดงออกมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจน นอกจากนี้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกมักไม่มีอาการ ดังนั้นจึงแนะนำว่าผู้ชายที่มีอายุเกิน 40 ขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี
ทำการนัดหมายแพทย์
นพ.จรัสพงศ์ ดิศรานันท์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: