bih.button.backtotop.text

โรคต่อมลูกหมากอักเสบ

โรคต่อมลูกหมากอักเสบ (prostatitis) เป็นการอักเสบหรือติดเชื้อของต่อมลูกหมากซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่สร้างสารที่เป็นของเหลวประมาณ 30% ของน้ำอสุจิ โรคนี้พบได้ในผู้ชายทุกกลุ่มอายุแต่จะพบบ่อยในผู้ชายอายุประมาณ 50 ปีหรือน้อยกว่า

ชนิดของต่อมลูกหมากอักเสบ
  1. ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน (acute bacterial prostatitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมลูกหมาก อาการของผู้ป่วยมักเฉียบพลัน และอาจรุนแรง โดยมีอาการไข้ บางรายอาจมีอาการหนาวสั่น ร่วมกับอาการผิดปกติในการปัสสาวะ เนื่องจากต่อมลูกหมากบวมขึ้นจนไปกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง เช่น ปัสสาวะบ่อย รู้สึกแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่งหรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง  ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปน ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการปัสสาวะไม่ออกฉับพลัน หรือ มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย
  2. ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง (chronic bacterial prostatitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมลูกหมาก แต่อาการไม่รุนแรงเท่าชนิดเฉียบพลัน มักมีอาการเป็นๆหายๆ มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ลักษณะที่พบบ่อยคือ มีประวัติการอักเสบติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นๆหายๆ และอาจมีกลุ่มอาการปวดในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย
  3. ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง (chronic prostatitis / chronic pelvic pain syndrome) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ปัจจุบันยังไม่สรุปแน่ชัดถึงกลไกการเกิด การอักเสบชนิดนี้ในต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเรื้อรังในอุ้งเชิงกรานเป็นหลัก ความปวดอาจเด่นชัดที่ ท้องน้อย ถุงอัณฑะ บริเวณฝีเย็บไปถึงทวารหนัก หรือ อวัยวะเพศ นอกจากนี้ยังพบว่า อาจมีความปวดตามหลังการหลั่งน้ำอสุจิ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติในการปัสสาวะร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  4. ต่อมลูกหมากอักเสบชนิดไม่มีอาการ (asymptomatic inflammatory prostatitis) เป็นการตรวจพบการอักเสบจากการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ซึ่งได้การเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก การผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากโต หรือการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก แต่พบเซลล์การอักเสบในชิ้นเนื้อที่ส่งตรวจ โดยผู้ป่วยไม่มีอาการของการอักเสบที่ต่อมลูกหมากมาก่อน ข้อมูลทางการศึกษา ณ ปัจจุบัน เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องให้การรักษา

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับโรคต่อมลูกหมากอักเสบนั้น แพทย์อาจพิจารณาใช้การตรวจต่างๆเหล่านี้

  • การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (digital rectal examination หรือ DRE) โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าทางทวารหนักและกดลงบนต่อมลูกหมาก หากมีอาการเจ็บ อาจช่วยวินิจฉัยว่ามีการอักเสบเกิดขึ้น
  • การตรวจปัสสาวะและเพาะเชื้อจากปัสสาวะ เพื่อยืนยันการอักเสบติดเชื้อ
  • การนวดต่อมลูกหมากเพื่อให้สารคัดหลั่งในต่อมลูกหมากออกมาอยู่ในท่อปัสสาวะ แล้วให้ผู้ป่วยปัสสาวะเพื่อส่งตรวจ  เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจ Meares-Stamey test อาจมีความจำเป็น เพื่อใช้แยก ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง (chronic bacterial prostatitis) จาก ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง (chronic prostatitis / chronic pelvic pain syndrome) โดยเป็นการทดสอบว่ามีการอักเสบเกิดในต่อมลูกหมากที่พิสูจน์ได้หรือไม่ การอักเสบนั้นเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ ถึงแม้จะเป็นวิธีมาตรฐาน แต่ค่าความถูกต้องแม่นยำ อาจถูกรบกวนถ้าสารคัดหลั่งในต่อมลูกหมากหลังทำการนวดต่อมลูกหมาก นั้นมีปริมาณไม่มากพอ แต่จะไม่พิจารณาทำ ในกรณีสงสัยต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน
  • การตรวจเพาะเชื้อจากน้ำอสุจิ อาจช่วยวินิจฉัย ภาวะต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง (chronic bacterial prostatitis) ได้
  • การเจาะเลือด PSA ปัจจุบันไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ เพื่อใช้วินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากอักเสบ แต่กระบวนการอักเสบของต่อมลูกหมากเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ค่า PSA สูงกว่าปกติได้ แพทย์ผู้รักษาจึงอาจแนะนำให้ตรวจติดตามซ้ำหลังการรักษา
  • การทำภาพถ่ายรังสี ultrasound มีประโยชน์ในกรณีรักษา ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อแล้วไม่ดีขึ้น เพื่อตรวจหาว่าเกิดก้อนหนอง (abscess) ในต่อมลูกหมากที่ต้องได้รับการผ่าตัดรักษาหรือไม่ การประเมินขนาดต่อมลูกหมากจากภาพถ่ายรังสี ultrasound นั้นไม่สามารถวินิจฉัยการอักเสบของต่อมลูกหมากได้
  • ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง (chronic prostatitis / chronic pelvic pain syndrome) เนื่องจากไม่ได้เป็นการติดเชื้อ อาจมีอาการทับซ้อนกับสาเหตุผิดปกติอื่นๆ ในอุ้งเชิงกราน แพทย์จึงอาจแนะนำการตรวจเพิ่มเติมอื่นเพื่อช่วยแยกโรค หรือ ยืนยันการวินิจฉัยได้
การใช้ยาปฏิชีวนะ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ตรวจพบและอาการของผู้ป่วย  ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูง อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ แล้วเปลี่ยนเป็นชนิดรับประทานเมื่ออาการดีขึ้น สำหรับต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อชนิดเฉียบพลัน มักให้การรักษา 2-4 สัปดาห์  สำหรับต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อชนิดเรื้อรัง มักให้การรักษา 4-6 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 12 สัปดาห์
 
การรักษาต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง (chronic prostatitis / chronic pelvic pain syndrome) ยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยากมากที่สุดในปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ  เพราะกลไกการเกิดไม่แน่ชัด เนื่องจากการอักเสบชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ณ ปัจจุบันที่ผู้ป่วยมีอาการ จึงยังเป็นที่ถกเถียงถึงความจำเป็น ในการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยกลุ่มนี้ คำแนะนำที่เป็นมาตรฐาน คือ ใช้การประเมินรูปแบบที่เด่นชัดตามกลุ่มอาการ เรียกว่าระบบ UPOINTs ที่แยกเป็น 7 กลุ่มอาการ แล้วรักษาตามกลุ่มอาการนั้น
 
prostatitis_1.png prostatitis_2.png

 
ปัจจุบันไม่มีหลักฐานถึง ปัจจัยเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงกับการอักเสบต่อมลูกหมาก จึงยังไม่มีคำแนะนำในการป้องกัน  ส่วนกรณีของต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ถ้าแพทย์พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของท่อปัสสาวะ หรือ ความผิดปกติในการปัสสาวะ แพทย์จะพิจารณารักษาที่สาเหตุร่วมด้วยเสมอ
แก้ไขล่าสุด: 12 ธันวาคม 2567

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.71 of 10, จากจำนวนคนโหวต 14 คน

Related Health Blogs