bih.button.backtotop.text

ปัญหาของคุณแม่หลังคลอด

10 กันยายน 2556

หลังคลอดลูกน้อย คุณแม่หลายคนอาจมีการเปลี่ยนแปลงของทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักๆ นั้นก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน บทความนี้ได้รวบรวมปัญหาที่พบบ่อยจากคุณแม่หลังคลอด เพื่อคลายข้อสงสัยต่างๆ และให้คุณแม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีความกังวล

หลังคลอดลูกน้อย คุณแม่หลายคนอาจมีการเปลี่ยนแปลงของทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักๆ นั้นก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน บทความนี้ได้รวบรวมปัญหาที่พบบ่อยจากคุณแม่หลังคลอด เพื่อคลายข้อสงสัยต่างๆ และให้คุณแม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีความกังวล
 
  1. ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังคลอดส่งผลต่อร่างกายอย่างไรหรือทำให้เกิดอาการผิดปกติอะไรได้บ้าง
ตอบ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงขึ้นและมีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ผู้หญิงมีความสุข อารมณ์ดี และมีความรักแต่เป็นความรักแบบแม่ ไม่ใช่ความรักแบบชายหญิง โดยเมื่อมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนี้อยู่ตลอดเวลาจึงทำให้ผู้หญิงไม่สนใจเรื่องความรักระหว่างสามีภรรยามากนัก จะสังเกตได้จากระหว่างที่ตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะมีอารมณ์เพศลดลง นอกจากนี้ เมื่อคลอดลูกแล้วสมองจะมีการสร้างฮอร์โมนโปรแลกตินออกมาจากต่อมใต้สมองเพื่อกระตุ้นเต้านมให้ขยายและมีน้ำนมสำหรับเลี้ยงลูก ซึ่งฮอร์โมนโปรแลกตินนี้ก็เป็นฮอร์โมนของความเป็นแม่ จะทำให้ผู้หญิงมีความรักลูก รักที่จะดูแลลูก และมีความสุขกับการดูแลลูก แต่กลับทำให้ผู้หญิงมีอารมณ์ทางเพศลดลงหรือหมดอารมณ์ทางเพศ ในขณะเดียวกันเมื่อคุณแม่ให้นมลูก ก็จะไม่มีการตกไข่ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนก็น้อยลง ส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง ผนังช่องคลอดบางลง การผลิตน้ำหล่อลื่นน้อยลง การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จึงอาจทำให้ผู้หญิงเจ็บมากกว่าปกติ ทำให้ผู้หญิงจึงมักไม่มีความสุขที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้
 
 
ทั้งนี้ ปัญหาฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงของคุณแม่หลังคลอดนี้ สามีและภรรยาควรมีการพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสัมพันธภาพตามมา หากสามีมีความต้องการทางเพศแต่คุณแม่หลังคลอดมีปัญหาไม่มีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์ อาจต้องปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้เจลหล่อลื่นเฉพาะที่ หรือให้คำแนะนำเพื่อให้สามีภรรยาสามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บในฝ่ายหญิง
 
  1. ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังคลอดนี้อันตรายหรือไม่ มีผลกับการให้นมลูกหรือมีผลอะไรต่อลูกหรือไม่
ตอบ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังคลอดนี้ไม่มีอันตราย จัดเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ โดยเมื่อคลอดลูกแล้ว ฮอร์โมนโปรแลกตินจะสูงขึ้นเพื่อให้คุณแม่มีน้ำนมสำหรับเลี้ยงลูก ซึ่งจะทำให้เลี้ยงลูกได้ดี โดยปกติแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนถึง 6 เดือน
 
 
  1. ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังคลอดจะกลับมาเป็นปกติ
ตอบ ระยะเวลาขึ้นกับว่าฮอร์โมนตัวใดที่เปลี่ยนแปลง เช่น ในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรนสูงมาก แต่พอหลังคลอดฮอร์โมนสองตัวนี้จะต่ำลงไปเลย เนื่องจากไม่มีไข่ตก ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด ฮอร์โมนจึงกลับสู่สภาพปกติ
 
 
  1. คำว่า “baby blue” ที่ได้ยินบ่อยๆ คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร อันตรายหรือไม่
ตอบ Baby blue คือภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยในระหว่างที่ตั้งครรภ์ จะมีฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่าเอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรนสูงมาก แต่พอคลอดลูก ฮอร์โมนสองตัวนี้จะต่ำลงไปทันที ในผู้หญิงบางคนที่มีความไวต่อความรู้สึกหรือมีประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาไม่ค่อยดีนักจึงเกิดอาการได้ง่าย โดยจะมีอาการทางจิตประสาทหลอนๆ ซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย หรือในบางรายอาจเป็นหนักถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรืออยากฆ่าตัวตาย ซึ่งอาการเหล่านี้คนรอบข้างจะสังเกตได้จากอาการซึม ไม่ร่าเริง สีหน้าเศร้าๆ เหงาๆ ทั้งนี้ อันตรายที่เกิดจากภาวะ baby blue ขึ้นอยู่กับว่าในระหว่างเวลาที่เกิดอาการซึมเศร้า คุณแม่ท่านนั้นมีการตอบสนองอย่างไร หากทำร้ายตัวเองหรือทำอะไรอย่างอื่นที่ไม่ดีก็จะทำให้เกิดอันตรายได้
 
 
  1. อาการ baby blue จะเป็นอยู่นานแค่ไหน จะรับมือหรือแก้ไขอาการนี้ได้อย่างไร
ตอบ ระยะเวลาของอาการ baby blue ขึ้นกับคุณแม่แต่ละราย บางคนอาจเป็นแค่สัปดาห์เดียว แต่บางคนอาจเป็นถึงหนึ่งเดือน แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นไม่เกิน 6 สัปดาห์ โดยอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาหลังคลอด และหากมีการตกไข่เมื่อไร ก็จะเข้าสู่วงจรปกติ อาการก็จะหายขาด ทั้งนี้ ในช่วงที่คุณแม่หลังคลอดมีอาการ baby blue คนรอบข้างจะต้องคอยดูแลเอาอกเอาใจอย่างใกล้ชิด หาอาหารดีๆ ให้รับประทาน คอยปลุกเร้าอารมณ์ให้คุณแม่สดใส กระฉับกระเฉง พูดแต่ในทางบวก ซึ่งจะช่วยให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา
 
 
  1. ถ้ามีอาการ baby blue ต้องทำการรักษาหรือไม่ จะส่งผลต่อลูกอย่างไร
ตอบ โดยทั่วไปอาการ baby blue ไม่มีผลต่อลูก เพียงแต่ถ้าคุณแม่มีอาการซึมเศร้าก็อาจจะทำให้เลี้ยงลูกได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาการ baby blue ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำการรักษา อาศัยเพียงแต่กำลังใจและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากคนรอบข้าง ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่ในกรณีที่เป็นมากๆ อาจต้องพบจิตแพทย์เพื่อให้การดูแลเป็นการเฉพาะ โดยอาจต้องใช้ยาต้านซึมเศร้าหรือยานอนหลับ เพื่อให้กลับมาเป็นปกติได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
 
  1. ผมร่วงมากหลังคลอดเกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่
ตอบ อาการผมร่วงหลังคลอดไม่ใช่อาการผิดปกติ แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นนานที่สุดไม่เกิน 120 วัน เมื่อฮอร์โมนกลับสู่ระดับปกติ ก็จะมีผมขึ้นใหม่ดีเหมือนเดิม
 
 
  1. จะดูแลรักษาอาการผมร่วงหลังคลอดได้อย่างไรบ้าง
 
ตอบ แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ เช่น ไข่แดง (สัปดาห์ละ 3 ฟอง) ผักที่มีสีเขียวเข้ม (เช่น ผักคะน้า ผักโขม) รวมถึงอาหารทะเลที่มีสังกะสีสูง เช่น หอยต่างๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างเส้นผมได้ นอกจากนี้ ควรสระผมด้วยแชมพูอ่อนๆ ร่วมกับการนวดศีรษะเป็นระยะๆ ในขณะที่สระผม เพื่อให้มีเลือดมาเลี้ยงที่ศีรษะมากขึ้น ในรายที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ อาจมีการนอนศีรษะต่ำสักวันละ 10-15 นาที เพื่อให้เลือดลงมาเลี้ยงที่หนังศีรษะมากขึ้น
 
 
  1. มีผื่นแพ้หลังคลอด เกิดจากอะไร จะแก้ไขได้อย่างไร
ตอบ โดยปกติระยะหลังคลอดจะเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน จึงอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน และเนื่องจากผิวหนังเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอก เมื่อสัมผัสโดนสิ่งต่างๆ จึงเกิดการระคายเคืองได้ง่าย นอกจากนี้ ด้วยระดับของฮอร์โมนที่น้อยลงซึ่งส่งผลให้ผิวหนังแห้ง ก็มีผลให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายขึ้นเช่นกัน 
 
 
วิธีการแก้ไขก็คือ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่ร้อนจัด เพราะน้ำร้อนจะไปชะล้างไขมัน ทำให้ผิวหนังแห้ง เกิดการระคายเคืองได้ง่าย นอกจากนี้ ควรทามอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หากเป็นไปได้อาจดื่มน้ำผลไม้ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้มีสารต้านอนุมูลอิสระและทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นได้
 
  1. หลังคลอดแล้วยังไม่มีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ควรต้องแก้ไขอย่างไร
ตอบ โดยปกติแล้วหลังคลอด ถ้าไม่ให้นมบุตร ประจำเดือนมักจะมาภายในประมาณ 6 สัปดาห์ แต่ถ้าให้นมบุตรอยู่ ร่างกายจะมีกระบวนการยับยั้งไม่ให้มีการตกไข่ ซึ่งถือเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ต้องแก้ไขหรือกังวลใดๆ คุณแม่หลังคลอดควรรับประทานอาหารให้ถูกส่วน นอนหลับให้พอเพียง ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้ทุกอย่างเกิดการสมดุล การทำงานของรังไข่ก็จะกลับมาเป็นปกติ
 
 
  1. ผิวพรรณที่เปลี่ยนไป เช่น หน้าท้องมีสีดำคล้ำ เป็นผลจากฮอร์โมนหรือไม่ จะหายหรือไม่ ต้องรักษาอย่างไร
ตอบ ผิวพรรณที่เปลี่ยนแปลงหลังคลอดเป็นผลมาจากฮอร์โมน คือในระหว่างที่ตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมามากขึ้น ทำให้เม็ดสีที่เรียกว่าเมลานินทำงานได้ดี ผิวจะคล้ำขึ้น โดยเฉพาะเส้นที่อยู่กลางตัวจะดำและคล้ำมากขึ้น เมื่อฮอร์โมนกลับสู่ปกติ รอยดำคล้ำนี้จะหายจางไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษาใดๆ ทั้งสิ้น 
 
 
  1. รูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากคลอดแล้วเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนหรือไม่
ตอบ เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์รูปร่างก็จะเปลี่ยนไป โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะทำให้มีไขมันมาพอกตามร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะที่แก้ม หน้าอก เต้านม หน้าท้อง สะโพก และต้นขา ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์มีรูปร่างอ้วน ต้นขาใหญ่ หน้าอกขยาย ขณะเดียวกันฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ออกมาในระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้เกิดอาการบวมน้ำ เมื่อร่วมกับผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เลยยิ่งทำให้มีรูปร่างใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้น หลักการที่จะช่วยให้มีรูปร่างกลับมาสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุดคือ รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลน้อยลง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพื่อช่วยเสริมสร้างการผลิตกล้ามเนื้อมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีโปรตีนมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างการผลิตกล้ามเนื้อ ที่สำคัญคือออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อนำไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย แต่ทั้งนี้ไม่แนะนำให้รับประทานยาใดๆ เพราะอาจมีผลต่อน้ำนมได้
 
 
  1. ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระยะยาวเมื่ออายุมากขึ้นหรือไม่ เช่น รูปร่างเปลี่ยนไป ผิวพรรณหย่อนคล้อย เป็นต้น
ตอบ จะสังเกตได้ว่าในผู้หญิงที่มีความเข้าใจอย่างดีตั้งแต่ในระหว่างที่ตั้งครรภ์และหลังคลอด และพยายามดูแลตัวเองให้กลับมาเหมือนเดิมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แม้ว่าจะตั้งครรภ์กี่ครั้ง รูปร่างก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ดังนั้น คุณแม่หลังคลอดทุกคนก็สามารถดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีเหมือนเดิมได้ ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่ รับประทานมื้อละน้อยๆ โดยลดแป้งและน้ำตาลให้น้อยๆ ในมื้อเย็น ร่วมกับออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันโดยเฉพาะตอนเย็น ซึ่งจะช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนต้านความชราได้
 
 
เรียบเรียงโดย ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาของคุณแม่หลังคลอด
คะแนนโหวต 9.46 of 10, จากจำนวนคนโหวต 103 คน

Related Health Blogs