ผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ ทำได้อย่างไร
มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคร้ายที่ป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรอง
มะเร็งลำไส้ แต่หากเป็นแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งหลักการในรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่คือ การผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบๆรอยโรคออกไปให้หมด สำหรับวิธีการเข้าไปผ่าตัดรักษานั้น สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ตำแหน่งของก้อนมะเร็งและระยะของโรค
วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งลำไส้มีอะไรบ้าง
- การผ่าตัดแบบแผลเปิด (Open colectomy) เป็นการผ่าตัดที่มีแผลยาวหนึ่งแผลบนหน้าท้อง โดยใช้มือของศัลแพทย์และอุปกรณ์การผ่าตัด โดยทั่วไปความยาวของแผลจะอยู่ประมาณ 20-30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับรูปร่างของผู้ป่วย ขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง
- การผ่าตัดเจาะรูส่องกล้อง (Laparoscopic-assisted colectomy) ทำได้โดยการเจาะรูเล็กๆ บริเวณช่องท้อง 4-6 แผล ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตรเพื่อสอดกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดที่มีลักษณะเป็นท่อบางๆ ยาว ตรงปลายท่อมีหลอดไฟและกล้องความละเอียดสูงเพื่อให้ศัลยแพทย์มองเห็นภายในช่องท้องและตัดก้อนมะเร็งพร้อมกับต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบๆได้ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังสามารถผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด (Robotic assisted surgery) ซึ่งเป็นวิธีการใกล้เคียงกันมากกับการผ่าตัดส่องกล้อง เพียงแต่ศัลยแพทย์จะนั่งประจำที่ console เพื่อทำการผ่าตัดผ่านจอภาพ โดยใช้สองมือควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนกลหุ่นยนต์ ระบบจะถ่ายทอดสัญญาณการเคลื่อนไหวจากมือศัลยแพทย์ไปยังแขนกลของหุ่นยนต์ที่กำลังผ่าตัดภายในร่างกายของผู้ป่วยเลียนแบบการเคลื่อนไหวของศัลยแพทย์
โดยทั่วไป ศัลยแพทย์สามารถใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องรักษามะเร็งลำไส้ได้ทุกตำแหน่งของลำไส้ ยกเว้นกรณีที่มะเร็งก้อนใหญ่มากหรือติดอวัยวะข้างเคียงค่อนข้างมาก อาจต้องใช้การผ่าตัดแบบเปิดแทน
การผ่าตัดแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อด้อยอย่างไร
การผ่าตัดเจาะรูส่องกล้อง ทำให้ร่างกายบอบช้ำน้อย ไม่เสียน้ำมากขณะทำการผ่าตัด แผลผ่าตัดเล็ก เจ็บแผลน้อยกว่า ทำให้การฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น
โรคหัวใจ โรคไต การผ่าตัดส่องกล้องจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีกว่า ในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิด แผลผ่าตัดจะใหญ่และร่างกายบอบช้ำมากกว่า แต่มีข้อดีคือค่าใช้จ่ายถูกกว่า
สำหรับอัตราการรอดชีวิตและการกลับมาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ซ้ำนั้น การผ่าตัดแบบเปิดและการผ่าตัดส่องกล้องมีอัตราการรอดชีวิตและการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งลำไส้ใหญ่เท่าๆกัน
ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนการผ่าตัด
ก่อนการผ่าตัดแบบเปิดและการผ่าตัดส่องกล้อง แพทย์จะตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเพื่อประเมินสุขภาพโดยรวม หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมโรคให้ดีก่อน ก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยต้องทำให้ลำไส้สะอาดด้วยการงดอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้ และรับประทานอาหารน้ำที่ใสก่อนวันผ่าตัด รับประทานยาถ่ายในวันผ่าตัด งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัดหรือตามคำแนะนำของแพทย์
หลังผ่าตัดควรดูแลตัวเองอย่างไร
ในการผ่าตัดแบบเปิด ศัลยแพทย์จะต้องตัดกล้ามเนื้อหน้าออกไปค่อนข้างเยอะและผู้ป่วยจะมีแผลที่ยาว ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ยกของหนักใน 3-4 เดือนแรกหลังการผ่าตัดเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อแยกได้ สำหรับการผ่าตัดส่องกล้อง ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติภายใน 1 เดือน
ในการผ่าตัดทุกประเภท โดยเฉพาะการผ่าตัดส่องกล้องจำเป็นต้องใช้ฝีมือของแพทย์ผู้ชำนาญด้านเทคนิคการผ่าตัดด้วยกล้องโดยเฉพาะ ศูนย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์สูงในการผ่าตัดด้วยเทคนิคเจาะรูส่องกล้อง พร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความรู้และความชำนาญด้านการดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และ
ทวารหนัก
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 19 ตุลาคม 2566