เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่อาจเคยพบปัญหาลูกมีความผิดปกติของแขนขาและกระดูกสันหลังแต่กำเนิด ทำให้นิ้วขาดนิ้วเกินนิ้วติดกัน รวมทั้งมีความผิดรูปของมือ เท้าและกระดูกสันหลัง ถึงวัยที่ควรจะเดินได้ก็ยังไม่ยอมเดิน มีการเกร็งของแขนขา เดินเขย่ง เมื่อโตมาก็ไม่แน่ใจว่าลูกมีแขนขาโก่งผิดรูปและมีลำตัวบิดเบี้ยวหรือไม่ การเดินการเคลื่อนไหวของแขนขาดูไม่ปกติ มีคนทักบ่อย ๆ ว่าลูกเดินเบี้ยวเท้าปัดเท้าแบน ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน อยู่ ๆ ลูกยอมไม่ขยับแขนขา ไม่ยอมเดิน หรือเดินกะเผลก ลูกร้องปวดตามข้อปวดแขนขา รวมไปถึงกรณีฉุกเฉินรุนแรงต่าง ๆ เช่น เล่นเครื่องเล่นแล้วมีการบาดเจ็บ แขนขางอผิดรูปถึงขั้นกระดูกหักและข้อเคลื่อน ปัญหาดังกล่าวข้างต้นอาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษโดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกเด็ก เนื่องจากกระดูกและข้อของเด็กมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากในผู้ใหญ่
กระดูกของเด็กมีรูปร่างและลักษณะต่างจากผู้ใหญ่ มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตตลอดเวลา ตั้งแต่การสร้างเนื้อเยื่อแขนขาในครรภ์คุณแม่ และเมื่อเกิดมาแล้วลักษณะก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามอายุของเด็ก หากมีอะไรมากระทบกระเทือนในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างการเจริญเติบโตนี้ ก็จะทำให้กระดูกและข้อมีพัฒนาการผิดไปจากลักษณะปกติ และอาจรุนแรงถึงขั้นหยุดการเจริญเติบโตของกระดูกส่วนนั้น ส่งผลให้แขนขาโก่งผิดรูป สั้นยาวไม่เท่ากันและเคลื่อนไหวผิดปกติ
การรักษาโรคโรคกระดูกเด็กควรทำทันทีที่พบว่ามีปัญหานั้น การรักษาตั้งแต่อายุน้อยมักได้ผลดีกว่าเมื่ออายุมากขึ้น การรักษาโรคกระดูกในเด็ก ในเด็กเล็กการรักษาอาจทำได้ง่ายๆ โดยการใส่เฝือก การรักษาเมื่ออายุมากขึ้นอาจต้องอาศัยการผ่าตัด สำหรับการผ่าตัดเอง ในเด็กเล็กอาจใช้เทคนิคแผลเล็กเจ็บน้อย เมื่ออายุมากขึ้นหากต้องผ่าเต็มรูปแบบการพักฟื้นก็จะนานขึ้น โรคที่ตรวจพบตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ก็จะได้รับการให้คำแนะนำและวางแผนให้การรักษาได้ทันที่เด็กคลอดออกมา
การรักษาโดยทั่วไปในเด็ก นอกจากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นแล้ว ยังต้องมองไปข้างหน้าถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อเนื่องตามมา การรักษาบางอย่างที่ใช้ในผู้ใหญ่จะไม่ใช้ในเด็ก เนื่องจากมีผลต่อเยื่อเจริญและทำให้กระดูกผิดรูปหรือไม่โตไปตามที่ควรจะเป็น ปัญหาเหล่านี้นอกจากต้องป้องกันเมื่อให้การรักษาแล้ว ยังต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อว่าหากเกิดปัญหาขึ้นจะสามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมได้ทันที
การรักษาด้วยอุปกรณ์พิเศษบางประเภทอาจมีค่าใช้จ่ายสูงมากและเป็นข้อจำกัดในโรงพยาบาลหลายแห่ง แต่อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถนำมาใช้เพิ่มความยาวของกระดูก ปรับรูปร่างของกระดูกให้ตรงได้เป็นอย่างดี การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมีกระบวนการที่ซับซ้อน แต่สามารถให้บริการได้โดยแพทย์กระดูกเด็กที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการรักษา
เรียบเรียงโดย
นายแพทย์ปริยุทธิ์ เจียรพัฒนาคม แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ, ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อในเด็ก
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567