bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบลามิเนกโตมี (Laminectomy)

การผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทด้วยการขยายช่องทางออกเส้นประสาทจากด้านหลังแบบลามิเนกโตมี (Laminectomy) เป็นการผ่าตัดยกกระดูกลามินา (Lamina) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังที่กดทับออก การผ่าตัดจะช่วยคลายการกดทับรากประสาทซึ่งทำให้อาการปวดหลังและขาลดลง

การกดทับรากประสาทอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้
  • หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับ
  • โรคข้อสันหลังเสื่อม เกิดจากการเสื่อมสภาพตามวัยของหมอนรองกระดูก หมอนรองกระดูกกดทับ หรือการเติบโตของกระดูกสันหลังผิดปกติ ซึ่งก่อให้เกิดปุ่มงอกเบียดทับรากประสาท อาการเจ็บปวดยังคงอยู่หรือปวดรุนแรงขึ้นหลังจากผ่าตัดแล้ว
  • เยื่อพังผืด
  • หลายสาเหตุข้างต้นรวมกัน 

ในการผ่าตัดแบบลามิเนกโตมี แพทย์จะใช้ยาสลบและให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ จากนั้นจึงผ่าตัดเพื่อให้สามารถเข้าถึงรากประสาทที่ถูกกดทับ เมื่อพบรากประสาทที่มีปัญหาแล้วจึงทำการเอากระดูกสันหลังส่วนที่กดทับนั้นออกไป
 

ในการผ่าตัดแพทย์อาจจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

  • นำเอาหมอนรองกระดูกส่วนที่กดทับออก
  • นำส่วนกระดูกที่ปุ่มงอกหรือเติบโตผิดปกติออก
  • นำเอาเนื้อเยื่อพังผืดออก
 

การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1.5-3 ชั่วโมง บางครั้งแพทย์จะต่อสายพลาสติกไว้ที่แผลประมาณ 2-3 วันหลังจากผ่าตัด เพื่อให้เลือดที่ค้างอยู่ไหลออกจากแผลได้ หลังจากผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน ระยะเวลาพักฟื้นจนการกลับมาทำกิจกรรมได้ตามปกตินั้นมักขึ้นอยู่กับสภาวะของร่างกายก่อนการผ่าตัดรวมถึงอายุของผู้ป่วย แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยพยายามเดินได้ตามปกติ แต่ยังไม่ควรก้ม ยืด หรือบิดตัวมากเกินไปในระยะ 6 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้แผลเกิดการฉีกขาด

จะทำการผ่าตัดแบบลามิเนกโตมีเมื่อมีการกดทับเส้นประสาทของหมอนรองกระดูกที่อยู่ระหว่างช่องของกระดูกสันหลัง ซึ่งการกดทับบริเวณส่วนล่างของเอวจะทำให้มีอาการปวดหลังอย่างมากและเรื้อรัง กล้ามเนื้อขาไม่มีแรง บางรายอาจสูญเสียประสาทสัมผัสที่ขาและเท้า เมื่อขาเหยียดตรงแล้วจะยกขาได้ลำบาก

หมอนรองกระดูกสันหลังที่กดทับบริเวณคออาจทำให้ปวดแขน ชาและอ่อนเปลี้ย อาการหมอนรองกระดูกกดทับอาจถูกกระตุ้นจากการบิดหลังขณะยกของหนัก การผ่าตัดจะช่วยลดการกดทับบริเวณเส้นประสาทและรากประสาทโดยการนำเอาชิ้นส่วนที่กดทับออกไป

ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพบได้ไม่บ่อยและมักเป็นอาการเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • รากประสาทถูกทำลาย หรือสูญเสียการควบคุมการปัสสาวะและการขับถ่าย
  • ความเสี่ยงเรื่องอัมพาตมีน้อยและหากมีจะถือว่าผิดปกติ เพราะปลายประสาทไขสันหลังจะสิ้นสุดที่กระดูกสันหลังระดับอกข้อที่ 2 และกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 1 แต่แพทย์จะทำการผ่าตัดต่ำกว่าจุดเสี่ยงดังกล่าว
  • อาจมีน้ำไขสันหลังไหลออกมาหากเยื่อหุ้มน้ำไขสันหลังฉีกขาดแต่จะไม่กระทบต่อผลการผ่าตัด โดยทั่วไปผู้ป่วยสามารถนอนพักประมาณ 24-48 ชั่วโมงก็ทำให้รอยรั่วของถุงน้ำไขสันหลังประสานเองได้
  • การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็สามารถควบคุมและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การกดทับของหมอนรองกระดูกที่จุดเดิม
 

ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด

แพทย์อาจจะแนะนำวิธีการรักษาอื่นนอกเหนือจากการผ่าตัดยกกระดูกสันหลังแบบลามิเนกโตมี เช่น การลดน้ำหนักและการใช้ยาบรรเทาอาการปวด การทำกายภาพบำบัดและการใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงกระดูกอาจจะช่วยลดการกดทับหรือทำให้เคลื่อนไหวข้อสันหลังได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องพี่งวิธีการผ่าตัด
ผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดยกกระดูกสันหลังแบบลามิเนกโตมี คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังและไม่ตอบสนองต่อยาหรือการทำกายภาพบำบัด แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยถึงความเหมาะสมในการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายหลังจากที่ได้ทำการตรวจและพูดคุยกับผู้ป่วยแล้ว

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์ออร์โธปิดิกส์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.73 of 10, จากจำนวนคนโหวต 51 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง